ชอบกิน ชอบลอง และชอบแชร์ประสบการณ์ร้านอาหารใหม่ ๆ กลุ่ม Foodie จึงเป็นกลุ่มที่ร้านอาหารในยุคนี้ให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะสามารถขายให้กลุ่มนี้ได้มากแล้ว คนกลุ่มนี้ยังทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย เรามาดู เทคนิคคิดโปรโมชั่น เอาใจลูกค้าสาย Foodie! กันครับ
เทคนิคคิดโปรโมชั่น เอาใจลูกค้าสาย Foodie!
เซฟเงินแต่ได้ภาพ
แม้กลุ่ม Foodie ยินดีจะจ่ายเงินในการกิน ดื่ม เพื่อประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่ก็มองหาทางที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายอยู่เหมือนกัน โปรโมชั่นที่น่าสนใจคือ เป็นส่วนลดที่ให้ประสบการณ์ที่พิเศษ เช่น คูปองส่วนลดเพื่อได้ทดลองเมนูใหม่ หรือการร่วมกับบัตรเครดิตโดยการแลกแต้มบัตรสะสมในบัตรเป็นเมนูพิเศษ นอกจากนั้นโปรโมชั่นที่ทำให้ได้กินอาหารอย่างหลากหลายในราคาที่ถูกกว่า เช่น มา 4 จ่าย 3 ของร้านอาหารบุฟเฟต์ นอกจากคุ้มค่าแล้วยังได้ภาพถ่ายเยอะอีกด้วย
ท้าทายและน่าแชร์
กลุ่ม Foodie ชอบการแชร์ภาพถ่ายลงในโซเชียลมีเดีย สนุกกับการเล่าเรื่องอาหารในมุมมองตัวเอง ซึ่งโปรโมชั่นออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่เช็คอิน แชร์ แล้วได้รับสินค้าฟรี แต่การใส่ความสนุกเข้าไปจะทำให้เกิดการแชร์ที่อิมแพคมากกว่า เช่น แคมเปญตอกไข่ของ MK หรือการจับคูปองที่มีโอกาสซื้อสินค้าพิเศษได้จำนวนจำกัด นอกจากนำเสนอจุดขายของเมนูใหม่แล้ว ยังส่งเสริมให้ลูกค้าอยากมีส่วนร่วมอีกด้วย
เร็วและเอ็กซ์คลูซีฟ
ปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น มีความเป็น individual สูง เพราะการนำเสนอสินค้าหรือโปรโมชั่นที่เฉพาะ จะทำให้เกิดความประทับใจมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม Foodie ซึ่งร้านสามารถทำโดยการจัดเก็บข้อมูลกลุ่มลูกค้าไว้ และการจัดแคมเปญการตลาด ๆ ที่เจาะกลุ่มความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมกับเวลา นอกจากนั้นการเล่นกับกระแสก็เป็นการดึงกลุ่ม Foodie ที่ต้องการแชร์ประสบการณ์เป็นคนแรก ๆ ในกลุ่มเพื่อนได้ดีเหมือนกัน
ให้ประสบการณ์ด้วยการเล่นกับเทคโนโลยี
แพลตฟอร์มระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการเข้ามาใช้บริการที่ร้าน สามารถคิดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าให้เข้าร่วม เพื่อแก้ปัญหาการจัดการหน้าร้านได้ดีอีกด้วย เช่น ให้สิทธิส่วนลดกับลูกค้าการจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่น การสั่งอาหารที่สามารถเลือกได้เอง จ่ายเงินได้เองผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถรับบริการได้รวดเร็วขึ้น
เพราะกำลังซื้อในตลาดมุ่งไปสู่กลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่ม Young แทนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ดังนั้นร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน จึงมีการเปลี่ยนจากกลุ่มรายได้สูงไปยังกลุ่ม foodie ซึ่งมีอายุน้อย ไม่ต้องกังวลกับเรื่องค่าใช้จ่ายแทน แต่แนวความคิดที่ว่ากลุ่ม Foodie จะเป็นคนในกลุ่ม Young ที่มีอายุ 18-24 ก็ไม่ใช่อีกต่อไป เพราะกลุ่มคนที่สูงวัยอายุ 35 ปีขึ้น แต่มีรายได้สูงก็มีพฤติกรรมที่เข้ากลุ่ม Foodie ได้เหมือนกัน ดังนั้นการเก็บ Data ลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นร้านไหนสามารถคาดการณ์ได้ถึงพฤติกรรมล่วงหน้า และวางโปรโมชั่นให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงได้ก่อน มีแววรุ่งมากกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน