3 ปัจจัยที่ทำให้ ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนู อยู่เสมอ
เมนูอาหาร นับเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการร้านอาหารของเราและกลายเป็นลูกค้าประจำ บางร้านอาจคิดว่า เมื่อเรามีเมนูที่ดีหรือเป็นที่นิยมของลูกค้าอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาก็ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของคุณหยุดนิ่งหรืออาจล้มหายไปจากตลาด ฉะนั้นมาดูปัจจัยที่ทำให้ ร้านอาหารต้องพัฒนาเมนู อยู่เสมอกันดีกว่า
1.พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนตลอดเวลา
“การรักษามาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ แต่การตามกระแสให้ทันก็เป็นสิ่งจำเป็น” ก่อนอื่นเจ้าของธุรกิจต้องทราบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้มีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์เช่นเดิม เมื่อมีร้านอาหารเปิดใหม่หรือมีเมนูแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามา พวกเขาก็พร้อมไปลองอยู่เสมอ
พฤติกรรมนี้ถือเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสไปพร้อมๆ กัน โดยจะเป็นวิกฤตก็ต่อเมื่อร้านอาหารนั้นไม่เคยพัฒนาเมนูเลย แต่จะเป็นโอกาสสำหรับร้านอาหารที่ปรับตัวได้เร็ว เช่น กระแสชาโคลที่กำลังมาแรง ร้านแรกๆ ที่นำมาเพิ่มในเมนูก็จะได้ทั้งยอดขายที่เพิ่มขึ้นและได้ free marketing ที่ลูกค้าพร้อมจะถ่ายภาพเมนูใหม่ และนำไปแชร์ในโลกโซเชียล ยิ่งถ้าร้านไหนเป็นผู้ปลุกกระแสเป็นรายแรกๆ ก็ยิ่งมีโอกาสได้ยอดขายมากตามไปด้วย
ฉะนั้นหากเจ้าของร้านอาหารปรับตัวทัน พัฒนาเมนูใหม่อยู่เสมอ ก็จะได้รับประโยชน์จากพฤติกรรมผู้บริโภคนี้ไปเต็มๆ
2.ราคาวัตถุดิบที่ขึ้นลงอยู่เสมอ
เมื่อราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ร้านอาหารส่วนใหญ่มักปรับราคาอาหารขึ้นตาม ถ้าช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงก็ถือว่าไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ อยู่ในภาวะเงินฝืด สินค้าล้นตลาด เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ จนซัพพลายเออร์พยายามเสนอขายวัตถุดิบและให้ส่วนลดร้านอาหารแบบสุดๆ ล่ะ จะทำอย่างไร
ร้านอาหารบางร้านอาจคิดว่าผู้บริโภคอาจไม่รู้ในข้อนี้ แต่จริงๆ แล้ว พวกเขารู้ เพราะราคาวัตถุดิบในตลาดหรือห้างสรรพสินค้าที่เขาเดินเป็นประจำก็ปรับลดลงเช่นกัน เมื่อจะเข้าร้านอาหารจึงมักเปรียบเทียบราคาในใจเพื่อดูความคุ้มค่าอยู่เสมอ หากราคาอาหารยังคงเดิม ทั้งๆ ที่ต้นทุนถูกลง เขาอาจจะเลือกทำอาหารรับประทานเอง ซึ่งต้นทุนต่ำกว่า หรือเลือกเข้าร้านอาหารอื่นที่ราคาย่อมเยาก็เป็นได้ ฉะนั้นลองคำนวณความคุ้มค่า หากสามารถปรับลดราคาอาหารบางเมนูตามวัตถุดิบได้ ก็ลองปรับลดดู ตามสภาพตลาด เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าคุณซื่อสัตย์กับเขาจริงๆ
ขณะเดียวกัน ลองสังเกตว่าวัตถุดิบตัวใดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด พยายามหาวัตถุดิบนั้นมาสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ แม้ต้นทุนวัตถุดิบชนิดนั้นอาจจะสูง แต่คุณก็สามารถตั้งราคาสูงและทำกำไรจากเมนูนั้นได้ เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
3.ตลาดแรงงานคุณภาพขาดแคลน
หลายคนสงสัยว่า เมื่อแรงงานขาดแคลนแล้วเกี่ยวอะไรกับการพัฒนาเมนู เราจะอธิบายให้ฟัง สมมติว่าร้านของคุณเป็นร้านขนาดใหญ่ มีที่นั่ง 200 ที่นั่ง มีเมนูกว่า 200 เมนู คิดดูว่าต้องใช้พนักงานเสิร์ฟกี่คน ต้องมีพนักงานในครัวมากแค่ไหน
สำหรับพนักงานเสิร์ฟ หากเป็นร้านอาหารไม่ต้องการคนที่มีคุณภาพสูงนัก ก็อาจไม่เป็นปัญหา แต่พนักงานครัวซึ่งเป็นแรงงานคุณภาพและเป็นแรงงานหลักนี่สิสำคัญ การปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาเมนูนี่แหละ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
สิ่งที่คุณควรทำคือ ลองเช็คดูว่าเมนูไหนไม่เป็นที่นิยมและไม่ทำกำไร ก็ตัดออกเสีย เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน การทำเช่นนี้นอกจากไม่กระทบต่อการบริการแล้ว ยังช่วยลดภาระการทำงาน ทำให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสกับการทำเมนูที่คนนิยมสั่งและทำกำไรให้ร้านได้มากขึ้นอีกด้วย
การปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเช่นปัจจุบัน