ข้อดี/พิจารณา บริการน้ำเปล่า “ตั้งบนโต๊ะ" กับ “ให้ลูกค้าสั่ง” แบบไหนเหมาะร้านคุณ

เทียบ ข้อดี – ข้อพิจารณา บริการน้ำเปล่า “ตั้งน้ำไว้บนโต๊ะให้ลูกค้าหยิบ” กับ “ให้ลูกค้าสั่งกับพนักงาน”

เทียบ ข้อดี – ข้อพิจารณา บริการน้ำเปล่า
“ตั้งน้ำไว้บนโต๊ะให้ลูกค้าหยิบ” กับ “ให้ลูกค้าสั่งกับพนักงาน”
บริการแบบไหนเหมาะกับร้านคุณ!?

เวลาไปร้านอาหารคุณชอบบริการแบบไหนมากกว่ากัน!? ระหว่างร้านที่ “ตั้งน้ำไว้บนโต๊ะให้ลูกค้าหยิบ” กับ “ให้ลูกค้าสั่งกับพนักงาน” ในแง่ของผู้ประกอบการรูปแบบบริการ 2 อย่างข้างต้นต่างก็มีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับร้าน แต่แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนเข้ากับร้านเราล่ะ ? ลองมาดูข้อดี ข้อด้อยของบริการน้ำดื่ม 2 รูปแบบนี้เพื่อช่วยในการตัดสินใจนำมาปรับใช้กับร้านคุณสิ!
.
หมายเหตุ: น้ำดื่มที่ยกมาพูดถึง คือ น้ำเปล่า ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า “น้ำ”
.
<<ตั้งน้ำไว้บนโต๊ะให้ลูกค้าหยิบ>>
😁ข้อดี
1.แน่นอนว่าวิธีนี้ทำให้ลูกค้าสามารถหยิบน้ำดื่มเติมเองได้ทันที ไม่ต้องรอเรียกพนักงานให้มารับออเดอร์หรือรอพนักงานเดินไปหยิบน้ำมาเสิร์ฟ เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ทันใจลูกค้า
2.เนื่องจากการมีน้ำมาตั้งอยู่ใกล้ ๆ ทำให้ลูกค้ามีแนวโน้มเปิดเครื่องดื่มเพิ่มมากกว่าการต้องสั่งให้พนักงานมาเสิร์ฟ เพราะลูกค้าสามารถตัดสินใจได้เดี๋ยวนั้น จะดื่มก็หยิบเพิ่มเลย ในทางกลับกันถ้าต้องใช้เวลาในการรอ ลูกค้าก็อาจจะเปลี่ยนใจแล้วเลือกที่จะกลับไปกินที่บ้านหรือที่อื่นแทน เพราะเพียงเสี้ยวนาทีก็มีผลต่อการตัดสินใจ
3.เมื่อมีน้ำไว้บริการบนโต๊ะอยู่แล้วทำให้ภาระงานของพนักงานลดลง ข้อนี้อาจเห็นได้ไม่ชัดในการเสิร์ฟรอบแรก เพราะถึงพนักงานไม่ได้มาเสิร์ฟน้ำ แต่ก็อาจมีการเสิร์ฟน้ำแข็ง และต้องเสิร์ฟอาหารอยู่แล้ว แต่เมื่ออาหารออกหมด ลูกค้ารับประทานมาได้สักพักน้ำก็อาจจะหมด ทีนี้เมื่อมีน้ำอยู่บนโต๊ะ ลูกค้าก็ไม่จำเป็นต้องเรียกพนักงานเพื่อมารับออเดอร์ เพราะสามารถหยิบน้ำเติมเองได้เลย ทำให้พนักงานมีภาระงานต่อโต๊ะน้อยลง อีกทั้งสามารถไปทำอย่างอื่นหรือบริการโต๊ะอื่นได้อีก
.
🤨ข้อพิจารณา
1.การตั้งน้ำไว้บนโต๊ะอาจทำให้การจดออเดอร์รวมอาหารและเครื่องดื่มตกหล่น เนื่องจากการจดออเดอร์แบบนี้จะไม่ผ่านหน้าเคาน์เตอร์ แต่จะเป็นการมาเช็คหลังลูกค้ารับประทานอาหารเสร็จ ซึ่งมีโอกาสเช็คออเดอร์ตกหล่นอย่างไม่ตั้งใจได้ เช่น การที่ลูกค้าวางขวดไว้ด้านล่างแล้วลืม พอพนักงานมาเช็คก็ไม่ทันได้สังเกตทำให้ร้านเสียรายได้ส่วนนั้นไป
2.เมื่อตั้งน้ำทิ้งไว้ แม้เวลาจะผ่านไปไม่นานแต่ก็มีโอกาสที่ฝุ่นหรือละอองจะมาเกาะที่ขวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านที่เป็นแบบ outdoor ที่เป็นร้านเปิด ลมก็อาจจะพัดฝุ่นควันเข้าร้านได้มากซึ่งตรงนี้ถ้าไม่หมั่นดูแลรักษาความสะอาดก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์เรื่องความสะอาดของร้านได้ ลองจินตนาการว่าถ้าลูกค้าหยิบขวดน้ำขึ้นมาแล้วมีแต่ฝุ่นเกาะดำปี๋ ก็ดูไม่น่าพิศมัยเท่าไหร่ใช่ไหมล่ะ


<<ให้ลูกค้าสั่งกับพนักงาน>>
😁ข้อดี
1.เมื่อเป็นการหยิบใหม่มาเสิร์ฟ อาจทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการบริโภคเยอะขึ้น เช่น น้ำแบบแช่เย็น เพราะน้ำที่ตั้งอยู่บนโต๊ะไม่เย็นแน่ ๆ อีกทั้งอาจมีน้ำดื่มยี่ห้ออื่นให้เลือก เพราะก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบรสชาติของน้ำดื่มยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษทำให้เว้นการดื่มน้ำยี่ห้อที่ไม่ชอบ
2.พนักงานสามารถเช็คสินค้าก่อนจะไปถึงมือลูกค้าได้ เช่น สิ่งแปลกปลอมที่อาจติดไปกับขวด ตำหนิของฝาขวด รวมถึงความสะอาดของขวด ซึ่งถ้าลูกค้าได้รับไปแล้วสังเกตเห็นว่าสินค้าที่ได้ด้อยคุณภาพ ก็ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของร้าน
3.โอกาสที่ออเดอร์จะตกหล่นน้อย เพราะออเดอร์ออกผ่านเคาน์เตอร์ ซึ่งเมื่อพนักงานเสิร์ฟมาสั่ง พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ก็จะทำการจดบันทึกทันที อีกทั้งในบางร้านใช้เครื่อง POS ที่สามารถบันทึกรายการสินค้าและตัดสต็อกได้เลย พนักงานไม่ต้องไปรอเช็คออเดอร์รวมตอนเก็บเงิน

🤨ข้อพิจารณา
1.ลูกค้าต้องรอสั่งจากพนักงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นเวลาปกติหรือในร้านที่มีจำนวนพนักงานเยอะคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วนแถมร้านยังมีจำนวนพนักงานน้อย อาจทำให้พนักงานให้บริการลูกค้าไม่ทั่วถึง เช่น ลูกค้าต้องการจะสั่งน้ำแต่พนักงานที่ดูแลโต๊ะหายและไม่มีพนักงานคนไหนว่างมารับออเดอร์ก็อาจทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจได้
2.อยากจะเพิ่มยอดขายน้ำ พนักงานต้องพูดให้เป็น ส่วนใหญ่เราจะพบว่าเราจะได้ยอดขายน้ำเพิ่มขึ้น ต่อเมื่อลูกค้าต้องการสั่งเพิ่มด้วยตัวเอง ทั้งนี้ถ้าอยากจะเพิ่มยอดขายน้ำ พนักงานต้องมีทักษะในการพูดและรู้จักจังหวะในการเข้าไปเสนอขายเพิ่มเติม เช่น เข้าไปเสนอขายน้ำเปล่าในขณะที่น้ำขวดเก่าใกล้จะหมด “รับน้ำอีก 1 ขวดเพิ่มไหมครับ”
.
ทั้งนี้การเลือกนำรูปแบบบริการเครื่องดื่มไปใช้ในร้านยังต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ อีก ทั้งจำนวนพนักงาน จำนวนลูกค้า ประเภทร้าน รวมถึงความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่องานบริการ อย่างในร้านอาหารที่ราคาสูงลูกค้าก็คาดหวังว่าจะได้รับการบริการจากพนักงานเป็นอย่างดี คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย อย่างไรก็ตามทุกคนลองไปเปรียบเทียบกันดูว่าบริการแบบไหนเหมาะกับร้านของคุณมากกว่ากัน แล้วนำไปปรับใช้กันนะคะ
.
#AmarinAcademy #ร้านอาหาร

เรื่องแนะนำ

ลดของเสียในร้านอาหาร

9 วิธีช่วย ลดของเสียในร้านอาหาร

หนึ่งในหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จคือการควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงจนเกินไป วันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ ในการ ลดของเสียในร้านอาหาร มาแนะนำ

การจัดเก็บวัตถุดิบ

เทคนิค การจัดเก็บวัตถุดิบ สำหรับร้านอาหาร เพื่อลดการเสียต้นทุน

         ในช่วงวิกฤตนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้ออาหารและวัตถุดิบต่างๆ ตุนเอาไว้ ส่วนร้านอาหารต่างๆ ก็เน้นการขายแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ทำให้มีต้องมีการซื้อวัตถุดิบเพื่อรองรับการสั่งซื้อมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การจัดเก็บวัตถุดิบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา คงคุณภาพของอาหาร และลดการสูญเสียต้นทุนวัตถุดิบให้น้อยที่สุด           ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารควรยึดหลัก First In First Out (FIFO) หรือการใช้วัตถุดิบที่หมดอายุก่อน นอกจากนี้ วัตถุดิบแต่ละประเภทยังมีเทคนิคในการเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป บทความนี้จึงขอรวมเทคนิคการยืดอายุวัตถุดิบอาหาร ให้สามารถเก็บได้นานที่สุด  เทคนิค การจัดเก็บวัตถุดิบ สำหรับร้านอาหาร เพื่อลดการเสียต้นทุน   เนื้อสัตว์           วัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ควรจะทำความสะอาด ตัดแต่งเนื้อตามลักษณะที่ต้องการ ซับให้แห้ง หลังจากนั้นอาจจะนำไปหมักกับเครื่องปรุง แล้วแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับใช้ในแต่ละครั้ง บรรจุใส่กล่องสำหรับแช่แข็ง หรือใส่ในถุงซิปล็อคแล้วกดให้แบน เพื่อให้ความเย็นเข้าถึงทั่วกันและจัดเก็บง่าย หรือจะห่อด้วยพลาสติกห่ออาหารก็ได้ หลังจากนั้นจึงนำไปแช่ในช่องแช่แข็ง […]

ตั้งราคาขาย

ตั้งราคาขาย อย่างไร ให้ขายได้และร้านอยู่รอด

        ในช่วงวิกฤตแบบนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดได้ คือการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และการ ตั้งราคาขาย (Price Strategy) ของอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะในวงการอาหารเดลิเวอรีที่มีการแข่งขันสูง มีร้านอาหารแบบเดียวกันเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจะต้องใช้กลยุทธ์ทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อจากร้านของเรา ลองมาดูการตั้งราคาขายอาหารและกลยุทธ์ต่างๆ ที่อาจจะช่วยร้านของคุณได้ครับ ตั้งราคาขาย อย่างไร  ให้ขายได้และร้านอยู่รอด         พื้นฐานของการ ตั้งราคาขาย อาหาร ต้องคำนวณมาจากต้นทุนของร้าน เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ควรอยู่ที่ 30-35% ของยอดขาย ตัวอย่างเช่น ต้นทุนวัตถุดิบเท่ากับ 30 บาท ราคาขายก็ควรจะตั้งไว้ประมาณ 100 บาท เป็นต้น          แต่ไม่ใช่ว่าการคำนวณแบบนี้จะเหมาะสมกับทุกร้านอาหาร เพราะยังมีต้นทุนอื่นๆ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ และค่าการตลาดอื่นๆ ส่วนใครที่นำร้านอาหารเข้าร่วมกับผู้ให้บริการเดลิเวอรีต่างๆ ก็อย่าลืมต้นทุนค่า GP […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.