7 สิ่งที่คนมักจะทำพลาด! เมื่อ เปิดร้านกาแฟ - Amarin Academy

7 สิ่งที่คนมักพลาด! เมื่อ เปิดร้านกาแฟ

7 สิ่งที่คนมักพลาด! เมื่อ เปิดร้านกาแฟ

“ลาออกไปเปิดร้านกาแฟดีกว่า” น่าจะเป็นคำพูดที่ได้ยินกันเยอะมาก เพราะร้านกาแฟถือเป็นหนึ่งในธุรกิจในฝันของใครหลายคน เนื่องจากคิดว่าเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย กำไรสูง แค่ทำเลดี ชงกาแฟอร่อย ก็น่าจะไปรอด แต่รู้หรือไม่ว่า เปิดร้านกาแฟ ง่ายก็จริงๆ แต่เจ๊งง่ายกว่า! เราจึงรวบรวมข้อผิดพลาดที่ทำให้ร้านกาแฟส่วนใหญ่ เจ๊ง มาให้ทราบกัน!

1.ลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป

นี่คือหายนะหลักที่ทำให้ร้านกาแฟหลายๆ ร้านประสบปัญหาขาดทุน เพราะเจ้าของร้านกาแฟส่วนใหญ่มักลงทุนกับค่าตกแต่งร้านค่อนข้างมาก เพราะคิดว่าจะเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการ หรืออีกเหตุผลแอบแฝงคือ อยากแต่งร้านสวยๆ เพื่อสนองความฝันของตัวเอง จนบางครั้งอาจทำให้งบประมาณบานปลาย

จริงๆ แล้วความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่! อย่าลืมว่า คุณกำลังทำธุรกิจ ที่ต้องการกำไร “ยิ่งคุณลงทุนมากเท่าไร ระยะเวลาคืนทุนก็นานขึ้นเท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณมีงบประมาณจำกัด แต่ลงทุนในส่วนที่ไม่จำเป็นมากเกินไป อาจกระทบกับจำนวนเงินทุนที่จะนำไปสร้างรายได้เข้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินในการซื้อเครื่องชงกาแฟดีๆ วัตถุดิบดีๆ หรือจ้างบาริสต้าเก่งๆ พนักงานที่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักดีๆ แบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม จะได้ไม่ต้องนั่งเสียดายทีหลัง

2.เลือกทำเลผิด

ทำเลถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจร้านกาแฟเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าคุณเลือกทำเลผิด เลือกทำเลไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเลือกทำเลในย่านที่มีคู่แข่งเยอะมากๆ อาจทำให้ยอดขายของคุณวางไว้ไม่ถึงเป้า ฉะนั้นก่อนเลือกทำเลต้องวิเคราะห์ว่า ละแวกนั้นมีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่มากน้อยแค่ไหน มีกำลังซื้อหรือเปล่า คู่แข่งมีกี่เจ้า แต่ละเจ้าตั้งราคาเท่าไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรบ้าง และกลับมามองตัวเองว่าเราสามารถเอาชนะพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

หรือถ้าย่านนั้นไม่มีร้านกาแฟเลย ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจเช่าทันที ต้องตรวจสอบก่อนว่า ที่ไม่มีร้านกาแฟ เป็นเพราะแถวนั้นไม่มีลูกค้า หรือมีลูกค้าน้อยมากหรือเปล่า ทำเลนั้นมีจุดอ่อน จุดแข็งอะไร เราจะวางแผนเพื่อดึงลูกค้า เปิดตลาดใหม่ได้หรือไม่

3.คิดว่าขายกาแฟ กำไรดี

หลายคนที่ไม่เคยทำร้านกาแฟมักคิดว่า ขายกาแฟกำไรดี ต้นทุนมีแค่เมล็ดกาแฟ นม ครีม น้ำตาล กำไรเกินครึ่งแน่ๆ แต่อย่าลืมว่า นั่นเป็นแค่ต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้น แต่ในกาแฟ 1 แก้ว มันมีต้นทุนแฝงอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งค่าเช่าสถานที่ ซึ่งถ้าทำเลดีๆ อยู่ในย่านออฟฟิศสำนักงาน อาจสูงถึงเดือนละหลายหมื่นบาท ค่าพนักงานขั้นต่ำก็ 13,000 บาท แต่ถ้าจ้างบาริสต้าเก่งๆ ก็ต้องจ่ายแพงกว่านั้น ไหนจะค่าสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่า OT จิปาถะ นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื่อมของเครื่องชงกาแฟ ค่าแก้ว ค่าทิชชู่ ฯลฯ เมื่อนำมาคำนวณแล้ว กำไร 1 แก้ว จะเหลือประมาณ 20% เท่านั้น ฉะนั้นถ้าขายกาแฟราคาแก้วละ 60 บาท คุณจะได้กำไรประมาณ 12 บาทเท่านั้น

สมมติว่าคุณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เป็น Fixed cost (ค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) 30,000 บาท คุณต้องขายกาแฟให้ได้เดือนละ 2,500 แก้ว ถ้าร้านคุณเปิด 20 วัน ต่อเดือน เท่ากับว่า 1 วัน คุณต้องขายให้ได้ 125 แก้ว เพื่อ “เท่าทุน”

แก้วที่ 126 คุณถึงจะได้กำไร ฉะนั้นอย่าคิดว่า ธุรกิจกาแฟ กำไรเห็นๆ เพราะต้นทุนที่มองไม่เห็น มีอีกมาก!

4.คิดบวก ไม่มีแผนสำรอง

เปิดร้านวันแรก ใครๆ ก็คิดว่ามันต้องสำเร็จ ต้องมีลูกค้าเท่านี้ กำไรเดือนละเท่านี้ ความคิดเหล่านี้ถือเป็นแรงกระตุ้นให้เราฮึกเฮิมได้เป็นอย่างดี แต่! อย่าคิดบวกมากเกินไป เพราะสิ่งที่คุณคาดการณ์ไว้ มันมักจะไม่เป็นไปตามแผน

คุณโจ เจ้าของร้าน A Cup Coffee เล่าให้ฟังว่า “การคิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไป คือข้อพลาดสำคัญของเจ้าของร้านกาแฟ ซึ่งผมเองก็เคยพลาดเช่นกัน ตอนเปิดร้าน คิดว่าน่าจะขายได้วันละ 100 แก้ว เพราะย่านที่เปิดร้านมีออฟฟิศเยอะมาก แต่แทบไม่มีคู่แข่งเลย ที่สำคัญกาแฟของเราคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม แต่ขายในราคาถูกกว่าแบรนด์ดังๆ เกือบครึ่ง ฉะนั้น 100 แก้วไม่ใช่เรื่องยาก ปรากฏว่าเมื่อเปิดร้าน ยอดขายสูงสุดต่อวันคือ 30 แก้ว บางวันขายได้แค่ 10 แก้วก็มี และเป็นอย่างนี้อยู่หลายเดือน กว่าจะพลิกกลับมาได้ 100 แก้ว ต้องใช้เวลานานมาก”

ดังนั้นเจ้าของร้านกาแฟมือใหม่ อย่าคิดบวก ต้องคิดลบไว้เยอะๆ วางแผนสำรองไว้ให้รัดกุม ถ้าขายไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าลูกน้องลาออกกะทันหัน จะไปหาลูกน้องจากที่ไหน ฯลฯ เพื่อเวลาเกิดปัญหา จะได้แก้ไขได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม A Cup Coffee พลิกธุรกิจจากเกือบเจ๊ง! สู่เส้นทางสายกาแฟ 10 ปี 10 สาขา!

5.หาความต่างไม่เจอ

จุดต่าง คือสิ่งสำคัญที่เจ้าของร้านกาแฟต้องหาให้เจอ คุณต้องตอบให้ได้ว่าเพราะอะไร ลูกค้าถึงต้องซื้อกาแฟร้านคุณ ไม่ซื้อของคู่แข่ง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าจะสร้างความต่างอย่างไร เรามีคำแนะนำง่ายๆ ดังนี้

คุณลองศึกษาคู่แข่งหลายๆ เจ้า เข้าไปนั่งในร้าน สำรวจสินค้า ดูบริการของเขาให้ละเอียด สำรวจ Feedback จากลูกค้า เช่น ดื่มกาแฟหมดแก้วไหม มีพฤติกรรมการดื่มกาแฟอย่างไร เช่น ซื้อขนมด้วย หรือขอไวไฟจากพนักงาน (อาจลิสต์เป็นข้อๆ เช่น ด้านสินค้า บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก ความสะอาด ฯลฯ) แล้วมานั่งวิเคราะห์ว่า แต่ละเจ้ามีจุดแข็งและจุดอ่อนอะไรบ้าง จากนั้นคุณก็เข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้นให้ได้

6.ทำบัญชี งบการเงินไม่เป็น

เรื่องเงินๆ ทองๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ แต่มักเป็นข้อสุดท้ายที่เจ้าของธุรกิจจะใส่ใจ เพราะไม่มีความรู้ หรือคิดว่าแค่ต่อวันมีเงินเข้ากระเป๋ามากกว่ารายจ่ายก็พอแล้ว ซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิดอย่างมาก เพราะคุณจะไม่มีวันรู้เลยว่าจริงๆ แล้วที่คุณเหนื่อยทำงานทั้งหมดนั้น ได้กำไรคุ้มค่าเหนื่อยหรือเปล่า หรือควรฝากเงินในธนาคารอาจคุ้มค่ากว่า

เจ้าของธุรกิจควรบันทึกยอดขาย รายจ่าย และเช็คสต๊อกวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รู้จำนวนเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาช่วยจัดการให้การบันทึกข้อมูลเหล่านี้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง POS หรือระบบบัญชีออนไลน์

อีกข้อสำคัญที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้คือ คุณต้องแยกระหว่างเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ อย่าใช้กระเป๋าเดียวกัน คุณต้องตั้งเงินเดือนของตัวเองว่าต่อเดือนอยากมีรายได้เท่าไร และใช้เงินเท่านั้น ส่วนกำไรของร้าน เก็บไว้อีกบัญชี แบบนี้จะทำให้คุณเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่าธุรกิจของคุณได้กำไรหรือขาดทุน และควรไปต่อไหม

7.ขาดประสบการณ์และความรู้

เจ้าของร้านกาแฟส่วนใหญ่มักไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจกาแฟ อาจจะแค่ชอบดื่มกาแฟ เลยอยากเปิดร้านกาแฟ หรืออาจมีความรู้ด้านกาแฟบ้าง แต่ยังไม่ลึกมากพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝนจนชำนาญ เพราะมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจเยอะมาก ตั้งแต่การเลือกเครื่องชงกาแฟ เครื่องบดกาแฟ เมล็ดกาแฟที่ดีเป็นอย่างไร รสชาติกาแฟแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร เทคนิคการชงกาแฟที่ถูกต้อง การเก็บรักษา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้เรื่องการจัดการระบบภายในร้าน เช่น การทำระบบออร์เดอร์ การตัดสต๊อกวัตถุดิบ การกำหนดขั้นตอนการบริการ การเพิ่มยอดขาย การทำบัญชี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เจ้าของร้านกาแฟจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ

การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด คือหนึ่งในขั้นตอนที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่…“ทุกย่างก้าวที่เราพลาด มันมีค่าใช้จ่ายเสมอ” ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องผิดพลาดเองเสมอไป แต่สามารถนำบทเรียนจากคนที่ “เคยพลาด” ไปปรับใช้ได้ ฉะนั้นถ้าไม่อยากพลาด อย่าลืมนำบทเรียนเหล่านี้ไปใช้นะครับ!

 

____________________________________________________________________________

                   การทำร้านคาเฟ่ หรือร้านอาหาร ยังมีอีกหลายเรื่องราว หลายขั้นตอนที่เจ้าของร้านควรรู้ ดังนั้น ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง กับงานใหญ่ส่งท้ายปี  Amarin Academy 3rd Anniversary : Food Trend Connect  งานครบรอบ 3 ปีของ Amarin Academy กับการรวมตัวของเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 150 ร้าน พร้อมโอกาสการสร้าง Connection กับร้านชื่อดังต่างๆมากมาย อีกทั้งยังรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงที่จะมาอัพเดทเทรนด์ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า / งานดีไซน์ร้านสุดเจ๋ง / กลยุทธ์เรียกลูกค้าเข้าร้านสไตส์ Influencer ชื่อดัง ปิดท้ายด้วยปาร์ตี้สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ร่วมพูดคุยกับเหล่ากูรูและเจ้าของร้านผู้มากประสบการณ์ในบรรยากาศเป็นกันเอง ซึ่งงานจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2562

 

สมัครเข้าร่วมงาน Amarin Academy 3rd Anniversary : Food Trend Connect  คลิก!!

Amarin Academy

เรื่องแนะนำ

จ้างเชฟ

4 สิ่งที่ควรเช็ค ก่อนตัดสินใจ จ้างเชฟ

ก่อนเปิดร้านสิ่งที่เราต้องคิดให้หนัก คือการ จ้างเชฟ เพราะตำแหน่งนี้คือ คนสำคัญที่จะสร้างมาตรฐาน ให้ร้านอาหาร มาดูกันดีกว่าว่า ก่อนจ้างเชฟเราต้องเช็คอะไรบ้าง

“กะหล่ำผัดน้ำปลา” หรือ “กะหล่ำทอดน้ำปลา” คือเมนูเดียวกันไหม?

“กะหล่ำผัดน้ำปลา” หรือ “กะหล่ำทอดน้ำปลา” เมนูคิดไม่ตก ทั้งร้านและลูกค้า สั่งอันนี้ได้อีกอย่าง ตกลงเมนูเดียวกันไหม? “กะหล่ำผัดน้ำปลา” หรือ “กะหล่ำทอดน้ำปลา” เมนูเดียวกันหรือเปล่า? เป็นเมนูที่ค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับทั้งคนกิน คนขาย เป็นอย่างมากกับเมนู “กะหล่ำผัดน้ำปลา” และ “กะหล่ำทอดน้ำปลา” ที่บางทีก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างลูกค้าและร้านได้ เมื่อเมนูนี้มาเสิร์ฟ ซึ่งล่าสุดก็ได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งได้มาทวีตภาพเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ว่าจริง ๆ แล้ว 2 เมนูนี้ คือคนละเมนูกัน! โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้ได้ทวีตรูป 2 เมนูที่เป็นประเด็นพร้อมข้อความว่า “เทียบให้เห็นภาพ ซ้าย กะหล่ำ “ผัดน้ำปลา” ขวา กะหล่ำ “ทอดน้ำปลา” ที่เรามีปัญหาเพราะร้านอาหารส่วนมากจะเขียนลงเมนูว่า กะหล่ำทอดน้ำปลา แต่ทำออกมาหน้าตาแบบกะหล่ำผัด กะหล่ำผัดน้ำปลาจะน้ำเจิ่งนอง ผัดนิ่ม กะหล่ำทอดน้ำปลาจะแห้ง น้ำมันเคลือบผิวกะหล่ำ เกรียม ๆ น้ำปลาไหม้ ต่างอย่างเห็นได้ชัด” 🔸ความเห็นชาวเน็ต💬 ซึ่งหลังจากที่โพสต์นี้ออกไปก็ได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นแชร์ประสบการณ์ของตนเองด้วยเหมือนกัน เช่น 🗣💬 “เคยทำให้แฟนกินครั้งนึง เราทำออกมาแบบขวา ผช.บอกทำกับข้าวแค่นี้ก็ไหม้ […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.