เงิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ธุรกิจร้านอาหารก็เช่นกัน ถ้าเราบริหารเงินในมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร้านของเราก็จะเดินหน้าต่อได้ กลับกัน ถ้าระบบการจัดการเงินของเรามีปัญหา อาจจะต้องม้วนเสื่อ กลับบ้านเลยก็ได้ วันนี้เราจึงมีเทคนิคง่ายๆ ในการ บริหารเงินให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุดมาฝากกัน
4 เทคนิค บริหารเงินให้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุด
1.รู้จำนวนเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจ
คุณต้องเข้าใจก่อนว่า เราไม่สามารถควบคุมเงินทุกบาท ทุกสตางค์ในธุรกิจได้ (ใครจะรู้ว่าวันนี้จะขายอาหารได้กี่จาน มีรายรับกี่บาท หรือต้องจ่ายค่าจานแตกกี่ใบ) แต่เราสามารถกำหนดแผนการใช้จ่ายเงินในมือของเราได้ ก่อนอื่น เราต้องดูว่าเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจ (ทั้งรายรับและรายจ่าย) มีอะไรบ้าง สรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เงินในมือ หมายถึง เงินที่เราสามารถนำมาใช้ได้ทันที เงินในบัญชีธนาคารก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย
- เงินที่คาดว่าจะได้รับ หมายถึง เงินจากลูกค้าที่มาจากการจำหน่ายสินค้าและบริการในร้าน
- ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ภาษี
- ค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอน เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าทำการตลาด ค่าล่วงเวลาพนักงาน
ทั้งนี้คุณควรตรวจสอบ “เงินในมือ” อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่คุณคาดการณ์ได้ เช่น ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบอาหารโดยเฉลี่ย
หากพบว่าเงินในมือของคุณกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ หรือเรียกว่าภาวะขาดแคลนกระแสเงินสด จะได้ทำแผนลดการใช้จ่าย หรือทำแผนการตลาดเชิงรุกได้ทัน หรืออีกหนทางหนึ่งคือปรึกษาธนาคารเพื่อขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจต่อไป
2.ใช้เงินในมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ถ้า suppliers หรือร้านที่ส่งวัตถุดิบให้คุณ ไม่ได้กำหนดว่าต้องจ่ายเงินทันที คุณควรขอเครดิตเขาสัก 10-30 วัน และหากเขาเสนอส่วนลด สำหรับการชำระเงินก่อนครบกำหนดวันชำระเงิน จงปฏิเสธข้อเสนอนั้นเสีย เพราะสิ่งที่คุณต้องทำคือ ถือเงินสดในมือให้นานที่สุด และนำเงินนั้นไปลงทุนในกลุ่มการลงทุนปราศจากความเสี่ยง หรืออาจฝากในบัญชีธนาคาร
การทำเช่นนี้ แม้จะได้รับค่าตอบแทนไม่มากนัก (อาจน้อยกว่าจำนวนเงินที่คุณจะได้ลดราคาจาก suppliers ) แต่คือหนทางที่ปลอดภัยกว่า เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จะได้ไม่เกิดปัญหา ขาดแคลนกระแสเงินสดในภายหลัง
3.บริหารการใช้วัตถุดิบ และสถานที่ให้มีประสิทธิภาพ
ทุกคนคงคุ้นเคยกับการซื้อของลดราคา เพราะเห็นว่าราคาถูกจนอดใจไม่ไหวใช่ไหม (ทั้งๆ ที่ซื้อมาแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร) แต่เมื่อเราเริ่มธุรกิจเอง โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร การซื้อของลดราคา เราไม่ควรคำนึงถึงส่วนลดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย
บางครั้ง suppliers อาจลดราคาวัตถุดิบบางชนิดให้เรา อย่าเพิ่งรีบซื้อทันที แต่จงคำนึงว่าวัตถุดิบนั้นเราจำเป็นต้องใช้จริงๆ หรือเปล่า หรือซื้อมาแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ในครัวเฉยๆ ยังไม่ทันหยิบมาใช้ก็หมดอายุเสียแล้ว นั่นเท่ากับว่าคุณกำลังโยนเงินทิ้งไปฟรีๆ
นอกจากต้องยับยั้งชั่งใจจากวัตถุดิบลดราคาแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือ บริหารจัดการ การใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะนั่นคือต้นทุนของร้านล้วนๆ เราจึงขอยกเทคนิคง่ายๆ มาแนะนำ
– เช็ค Stock วัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอ การทำเช่นนี้ช่วยป้องกันปัญหาวัตถุดิบหมดกะทันหัน จนต้องวิ่งไปซื้อของแพงๆ ในร้านสะดวกซื้อใกล้เคียง เสียทั้งเวลา แถมยังต้องจ่ายแพงกว่าปกติอีกด้วย
– ตรวจสอบพนักงานในครัวอย่างสม่ำเสมอ ว่าใช้วัตถุตามมาตรฐานที่เรากำหนดไว้หรือไม่ อาจนำระบบ ชั่ง ตวง วัดเข้ามาช่วยในเรื่องนี้
– จัดโปรโมชั่นลดราคาแบบ “นาทีทอง” โดยคิดค้นเมนูขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ไม่ค่อยได้ใช้ในเมนูปกติ โปรโมทจานนั้นผ่านสื่อออนไลน์ให้คนรีบมาลองกิน แต่วิธีนี้คุณต้องมั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้ยังมีคุณภาพดีอยู่ ไม่เช่นนั้น จานพิเศษที่คิดค้นมา อาจกลายเป็นจานที่ทำลายชื่อเสียงร้านคุณก็เป็นได้
กรณีที่ร้านอาหารของคุณมีพื้นที่เหลือ เช่น ชั้นดาดฟ้า หรือชั้นใต้ดิน อาจเปิดให้เช่าสถานที่เพื่อจัดงานพิเศษต่างๆ เช่น งานวันเกิด งานเลี้ยงของบริษัท หรือคุณอาจสร้างสรรค์อีเว้นท์ขึ้นมาเอง เช่น สัปดาห์ปูทะเล เป็นต้น โดยกำหนดช่วงเวลาและการชำระเงิน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้
4.กำหนดกฎระเบียบการทำธุรกิจให้ชัดเจน
ถ้าคุณทำธุรกิจอาหารประเภทรับจัดเลี้ยง สำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ คุณต้องกำหนดระเบียบให้ชัดเจน เช่น ต้องชำระเงินล่วงหน้า 30 เปอร์เซ็นต์ หากจำนวนคนในงานมาไม่ถึงที่คาดการณ์ไว้จะไม่มีการคืนเงิน เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในภายหลัง
การบริหารจัดการเงิน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายผู้ประกอบการมากที่สุด ฉะนั้นต้องใส่ใจให้มาก วางแผนการเงินให้รอบคอบ ก็จะช่วยลดปัญหาและความยุ่งยากต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้
ที่มา: https://pos.toasttab.com/
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
4 กลโกง พนักงาน รูรั่วทางการเงินที่มองข้ามไม่ได้!
โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร จะเปิดร้านต้องรู้!
FIFO เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร ที่ช่วยลดต้นทุนได้
วิธี คำนวณต้นทุนร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้! by คุณ ธามม์ ประวัติตรี