4 Fingers ขั้นตอนนำแฟรนไชส์ต่างชาติ สร้างตลาดในเมืองไทย - Amarin Academy

4 Fingers ขั้นตอนนำแฟรนไชส์ต่างชาติ สร้างตลาดในเมืองไทย

หลายปีที่ผ่านมามีแบรนด์แฟรนไชส์ธุรกิจอาหารต่างชาติ เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น PABLO ชีสทาร์ตสุดฮอตจากประเทศญี่ปุ่น / Potato Corner มันฝรั่งทอดสัญชาติฟิลิปปินส์ / Croquant Chou Zakuzaku ชูครีมชื่อดังจากญี่ปุ่น รวมถึง 4 Fingers Crispy Chicken แบรนด์ไก่ทอดสไตล์ Asian twist จากประเทศสิงคโปร์ ก็เข้ามาเปิดตลาดในไทยเช่นกัน

 

4 Fingers ขั้นตอนนำแฟรนไชส์ต่างชาติ สร้างตลาดในไทย

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วการนำแบรนด์ต่างชาติเข้ามาในเมืองไทย มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร วันนี้คุณชนาสิน บำรุงชน หนึ่งในหุ้นส่วนผู้นำเข้าแบรนด์ 4 Fingers จะมาเปิดเผยขั้นตอน และเทคนิคดีๆ ของการซื้อแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศให้ทราบกัน

ซื้อแบรนด์จากต่างประเทศ: ไม่ใช่เพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อสร้างโอกาสให้ได้พัฒนาตัวเอง

4 Fingers เรามีหุ้นส่วนทั้งหมด 8 คน ซึ่งแทบทุกคนมีธุรกิจเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว แต่เป็นแบรนด์ที่พวกเราสร้างขึ้นเอง ทำให้เรารู้ว่ากระบวนการทำร้านอาหารเองต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ต้องสร้างแบรนด์เอง วางระบบเองทุกๆ อย่าง และไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ เราจึงคุยกันว่าอยากหาแบรนด์ที่ติดตลาดแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว มีการวางระบบ การบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว เรียกง่ายๆ ว่ามีสูตรสำเร็จตายตัว เข้ามาลองเปิดตลาดในไทย ซึ่งนอกจากเราจะคาดหวังด้านผลกำไรแล้ว เรายังได้ประสบการณ์ ความรู้ ที่นำมาต่อยอดธุรกิจที่ของเราเองได้ด้วย

เราจึงเริ่มมองหาแบรนด์ต่างชาติที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จ จนมีโอกาสไปเดินงาน Franchise Show ที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าผมไปเจอบริษัทหนึ่งที่มีเครือข่ายสามารถแนะนำให้เรารู้จักกับ4 Fingers ที่สิงคโปร์ได้ ซึ่งเราก็รู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้ว จึงสนใจและเริ่มพูดคุยกัน

ทำไมต้อง 4 Fingers: ก่อนจะซื้อแบรนด์ ต้องมั่นใจใน Product ก่อน

ก่อนจะซื้อแฟรนไชส์อะไรก็ตาม เราต้องมั่นใจใน Product ก่อน เราเชื่อว่า 4 Fingers ไปต่อได้ มันยังมีพื้นที่ในตลาดให้เราเล่นได้ โดยตอนนี้ในตลาดไก่ทอดจะมีแบรนด์ 2 ระดับหลักๆ คือแบรนด์ไก่ทอดทั่วไป คุณภาพกลางๆ เป็นสไตล์ Fast food ราคาไม่สูง บริการแบบ Self Service กับแบรนด์ไก่ทอดระดับบน มีการบริการเต็มรูปแบบ ราคาค่อนข้างสูง เราเห็นช่องว่างระหว่าง 2 ระดับที่ 4 Fingers จะเข้าไปเล่นได้ จึงวาง Positioning ว่าเป็นแบรนด์ที่มี Product พรีเมี่ยม มีไฮไลท์ที่ความกรอบ ไก่จะกรอบนานกว่าทั่วไป ไซส์ใหญ่กว่าทุกแบรนด์ ที่สำคัญใช้ไก่สด ไม่ใช้ Frozen แต่มีการบริการแบบ Self Service ไม่มี Vat / Service Charge ทำให้เราสามารถตั้งราคาได้สมเหตุสมผลกว่า ฉะนั้นเราจะได้กลุ่มลูกค้าที่ Sensitive เรื่องราคามาด้วย เพราะเมื่อเทียบปริมาณกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก

แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ผมว่าไม่ใช่ผมที่เลือกเขานะ เขาต่างหากที่เลือกผม เพราะ4 Fingers เป็นแบรนด์ใหญ่ มีค่ายใหญ่ๆ หลายค่ายในไทยที่สนใจอยากนำเข้ามา ขณะที่ผมกับเพื่อนๆ No name มาก มีแค่ร้านอาหารเล็กๆ ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านแฟรนไชส์มาก่อนเลย แต่ผมคิดว่าเขาน่าจะเลือกผมจากคาแรคเตอร์ที่ตรงกัน เพราะแบรนด์เขาวางคาแรคเตอร์เป็นคนวัยทำงานที่มีเวลาจำกัด ต้องรีบเร่ง แต่ผสมผสานความเป็น Street Art เข้าไปด้วย ซึ่งตรงกับคาแรคเตอร์ของพวกเรา

เปิดร้านเอง VS แฟรนไชส์: เริ่มต้นซื้อแฟรนไชส์ใช้เวลานาน แต่ไปต่อง่าย

สำหรับแฟรนไชส์กระบวนการเริ่มต้นจะยุ่งยากกว่า ต้องมีการเจรจาพูดคุยกันระหว่างเรากับแบรนด์ โดยเราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจที่จะทำจริงๆ ต้องทำการบ้านด้วยการวิเคราะห์ตลาดในไทย ลองวาง Positioning ให้เขาเห็น ทำแผนธุรกิจให้ละเอียดว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ให้เขาเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งเราโชคดีที่ CEO ของเราเก่งด้านการวิเคราะห์ตลาด ทำให้เขาเห็นว่าเราเข้าใจตลาดในประเทศไทยจริงๆ

เมื่อการเจรจาลงตัวแล้ว ก็มาถึงการทำงานจริง ทางแบรนด์แม่เขาจะมีระบบ ระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัด เพื่อให้ร้านเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านที่เขาเป็นผู้ออกแบบทั้งหมด วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับต้นฉบับมากที่สุด ระหว่างที่เราตกแต่งร้านก็ต้องสื่อสารกับเจ้าของแบรนด์ตลอดเวลา

ส่วนเรื่องสูตรอาหาร เราไม่จำเป็นต้องนำเข้าทุกอย่าง 100% แต่พยายามหาของในประเทศที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงที่สุด แล้วนำมาเทสต์รสชาติ ซึ่งวัตถุดิบบางตัวก็ใช้ของไทยได้ แต่บางตัว เช่น แป้ง ซอส ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องใช้ของเขาเพราะมันคือหัวใจสำคัญของแบรนด์ นอกจากนี้เขายังดูแลเรื่องการฝึกอบรมพนักงานด้วย โดยเราต้องส่งคนไปสิงคโปร์เพื่อเรียนรู้งานทุกๆ อย่างโดยละเอียด ทั้งการปรุง การทอด ทุกๆ กระบวนการ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เขากำหนด ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

แม้ว่าช่วงแรกจะค่อนข้างยุ่งยาก เพราะเราไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ข้อดีคือ ระบบทุกอย่างที่เราจะได้รับจากแบรนด์มีมาตรฐาน ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยที่เราสามารถลดบทบาทตัวเองลงมาและมีเวลาไปทำอย่างอื่นต่อไป

ขณะที่การเปิดร้านเอง ใช้เวลาน้อยกว่า แต่เราต้องเริ่มทุกอย่างเองทั้งหมด สร้างแบรนด์เอง วางระบบเอง ซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็มีอิสระมากกว่า

การตลาด เรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้: พฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละประเทศต่างกัน การตลาดจึงเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์เองได้

ด้านการตลาด เขาให้อิสระกับเรามาก เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน การทำการตลาดก็ต่าง อย่างคนสิงคโปร์เขาไม่ค่อยเล่น Facebook ขณะที่คนไทยใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับ 1 การแข่งขันในสิงคโปร์อาจจะไม่สูงนัก แต่ของเราค่อนข้างสูง ฉะนั้นเขาจึงให้อิสระเราในการวางแผน สิ่งที่เราวางไว้อันดับแรกคือเน้นสื่อออนไลน์ อาจจะใช้ Blogger การรีวิว การทำโปรโมชั่น สร้าง LINE@ ฯลฯ

แต่ช่วงแรกอาจจะต้องส่งข้อมูลให้เขาตรวจสอบในเบื้องต้นก่อน เช่น การใช้คำ เทคนิคการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ ต้องตรงกับคาแรคเตอร์ของแบรนด์ แต่เรื่องการจัดลำดับความสำคัญ การเล่าเรื่องในมุมต่างๆ เราเป็นคนเลือกเองว่าจะเล่าแบบไหน

วางแผนอนาคตสำหรับแบรนด์แฟรนไชส์: 2 ปี ขยาย 5 สาขา

ตลาดธุรกิจอาหารประเภท Fast food ถือว่าใหญ่มากๆ หลายพันล้านบาทต่อปี ฉะนั้นโอกาสที่เราจะเข้าไปทำตลาดก็มีมาก แต่การวัดความสำเร็จของแบรนด์ที่กำหนดไว้ ณ ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องยอดขาย แต่เป็นการกระจายแบรนด์ให้ติดตลาด ให้เป็นที่รู้จักก่อน โดยเราวางเป้าหมายไว้ว่า 2 ปีแรก เราต้องขายให้ได้ 5 สาขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสัญญากับเขาไว้ ยังไม่ได้มองว่าต้องเข้าไปแชร์ตลาดเป็นสัดส่วนเท่าไร มากน้อยแค่ไหน อันนั้นเป็นเรื่องของอนาคต

สำหรับใครที่อ่านบทความนี้แล้วมีไฟ อยากลองซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาตีตลาดในเมืองไทยบ้าง อย่ารอช้าครับ เพราะถ้าไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าจะประสบความสำเร็จไหม

 

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

ถอดเคล็ดลับ “เสวย” จากรุ่นสู่รุ่น รีแบรนด์ใหม่อย่างไร ให้ปัง!

โอยั๊วะ การเดินทางกว่า 20 ปี กับ บทเรียนที่หาซื้อไม่ได้

ถอดบทเรียน “ หม้อเบ้อเร่อ “ พลิกวิกฤติร้านเกือบเจ๊ง ให้กลับมาอยู่รอดอีกครั้ง

หมัดเด็ด Hai di lao หม้อไฟสัญชาติจีน สู่การเป็นร้านอาหารระดับโลก

เรื่องแนะนำ

ทำไมเปิด “คาเฟ่” แล้วไม่รุ่ง? เจ้าของร้านกาแฟ พร้อมสมาชิกกลุ่ม “คนบ้ากาแฟ” แชร์เหตุผลทำไมไม่สำเร็จ

ถอดบทเรียน เจ้าของร้านกาแฟแชร์เหตุผล ทำไมเปิด ” คาเฟ่ ” แล้วไม่รุ่ง? สมาชิกกลุ่ม “คนบ้ากาแฟ” ร่วมแสดงความเห็น และปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ   เพราะเหตุผลนี้ทำให้เปิด คาเฟ่ ไม่รุ่ง! เจ้าของร้านกาแฟดังแชร์ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุให้การทำร้าน คาเฟ่ ได้รับการตอบรับที่ไม่ดีเท่าที่ควร ในกลุ่มคนบ้ากาแฟ โดยมีเจ้าของร้านกาแฟ คาเฟ่ คนอื่นๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ด้วย . เจ้าของร้านรายนี้ได้สรุปเหตุผลที่ทำให้การทำคาเฟ่ไม่รุ่งไว้ว่า “ เหตุผลที่คนทำ cafe ไม่รุ่ง 1. ไม่มีความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ และธุรกิจ ของตัวเอง (ไม่กินกาแฟ อยากทำร้านกาแฟได้มั้ยคะ 55555 ) 2. ไม่รู้ต้นทุนตัวเอง ต้นทุนต่อแก้ว /ค่าเช่า /ค่าพนักงาน/ ต้นทุนแฝง ฯลฯ 3. เลือกทำเลไม่เป็น ไม่รู้จักช่องทางขาย (เลือกทำเลราคาถูก แต่ไม่มีลูกค้า ) 4. สนองความต้องการตัวเองจนลืมเหตุและผล (ของมันต้องมี) […]

เจริญชัยไก่ตอน

เจริญชัยไก่ตอน เผยเทคนิคบริหารร้าน 24 ชั่วโมง ให้ได้ล้าน!

ลองเดากันดูสิว่าร้านข้าวมันไก่จะมียอดขายเดือนละกี่บาท? เฉลย 3.6 ล้านบาท สงสัยใช่ไหมว่าทำได้อย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบจากเจ้าของร้าน เจริญชัยไก่ตอนกัน

ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี

ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี ร้านอาหารยุคใหม่ ต้องไม่นั่งรอลูกค้า!

ร้าน ก๋วยเตี๋ยวไข่กรุงศรี สร้างความต่างด้วยการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวไข่ต้มยำร้านแรกๆ ในอยุธยา และเปิดเกมรุกด้วยการไม่นั่งรอลูกค้าที่ร้าน แต่บุกไปหาลูกค้าถึงที่!

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.