ถอดบทเรียน เจ้าของร้านจิวเวลรี่แชร์
ทำอาหารอย่าลืมถอดเครื่องประดับ!
เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี มาตรฐานความปลอดภัย
ที่คนทำอาหารควรให้ความสำคัญ
เวลาทำอาหารอย่าลืมถอดเครื่องประดับ!!! รู้หรือไม่ว่าเครื่องประดับที่เราใส่ ๆ กันอยู่ทุกวันเนี่ย เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดีเลยนะ วันก่อนแอดได้เห็นโพสต์ที่เจ้าของร้านจิวเวลรีคนหนึ่งได้มาแชร์เป็นอุทาหรณ์ให้กับสมาชิกในกลุ่ม “เบเกอรี่พอเพียง” ถึงเรื่องการใส่เครื่องประดับทำขนมว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะการใส่แหวน เพราะว่ามันสกปรกมาก อีกทั้งยังได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์เรื่องความสะอาดของอาหารและร้านนั้น ๆ ด้วย
🔸แหล่งสะสมเชื้อโรค🤢
เจ้าของร้านจิวเวลรี่รายนี้ได้โพสต์ถึงประเด็นนี้ว่า
“ว่ากันด้วยเรื่องของการใส่แหวนในการทำเบเกอรี่ ในฐานะของเจ้าของร้านจิวเวลรี่ อยากจะบอกทุกคนว่าให้ถอดก่อนทำเถอะค่ะ เพราะแหวนที่เราเห็นว่าสวยวิบวับเนี่ย ด้านในท้องแหวนหรือตามซอกเตยที่เกาะเพชร มันสกปรกมากเลยนะคะ เวลาเห็นคนที่ไลฟ์สดหรืออาจารย์ที่สอนตามคอร์สออนไลน์ใส่แหวนทำแล้วนี่รู้สึกไม่ดีทุกครั้ง เพราะเจอเวลาลูกค้าส่งแหวนมาทำความสะอาด มันไม่โอเคจริงๆ ค่ะ แล้วถ้าแม่ค้าใส่แหวนด้วยความเคยชินไม่ได้ถอด นึกภาพกันออกมั้ยคะว่าเรากำลังกินเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเข้าไปอยู่ แม้มันจะผ่านความร้อนแล้วก็ตาม”
พร้อมเสริมว่า “การทำความสะอาดแหวนทุกวันไม่ได้การันตีว่าแหวนเราจะสะอาดหมดจด เพราะตามซอกหลืบเล็กที่แปรงเข้าไม่ถึงยังมีเชื้อโรคที่สะสมอยู่ต้องทำความสะอาดด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิค เครื่องใหญ่แบบที่ใช้ในโรงงานเท่านั้น ถึงจะสะอาดจริง ๆ ซึ่งเธอยังได้บอกอีกว่าการมาโพสต์ในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาโจมตีใคร หากทำให้ท่านใดรู้สึกเห็นต่าง หรือไม่พอใจก็ขออภัย ณ ที่นี้ด้วย
🔸ความเห็นจากชาวเน็ต💬
เมื่อเรื่องนี้ออกไปก็ได้มีสมาชิกกลุ่มเบเกอรี่พอเพียงทั้งคนขายและลูกค้าต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเจ้าของโพสต์ว่าการใส่เครื่องประดับทำอาหารเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งคนทำเบเกอรีหลายคนก็ได้บอกว่าตั้งแต่ทำขนมขายก็ไม่ได้ใส่เครื่องประดับเลย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ความถนัด ความสะอาด เป็นต้น
บ้างก็แชร์ถึงเรื่องความปลอดภัยในการทำอาหารว่า “จริงๆ แล้ว การทำอาหารไม่ว่าชนิดใด คนปรุงอาหาร 1.เล็บต้องสั้น 2.ห้ามใส่เครื่องประดับ เช่น แหวน,นาฬิกา,กำไร เป็นต้น 3.ห้ามทาเล็บ 4.หมวกคลุมผม 5.ใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด 6.ใส่รองท้าปิดส้น 7.ใส่เสื้อมิชิดมีแขน แต่ที่บังคับจริงๆใกล้สุดคือห้ามใส่แหวน,นาฬิกา,กำไร, อันนี้ด่านแรกค่ะ แต่ถ้าจะทำให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลจริง ยังมีอีกเยอะค่ะ โต๊ะที่ปรุงอาหารต้องสูงจากพื้น 70-90 ห้ามวางสิ่งของลงพื้น”
“ตอนสมัยเราเรียนคหกรรมศาสตร์ ก่อนจะลงมือปฏิบัติ อาจารย์ต้องสั่งให้ถอดแหวนทุกครั้งที่ลงมือทำอาหาร คาว หวาน เบเกอรี่ และเราจำมาถึงทุกวันนี้ ท่องในใจเสมอมือไม้ต้องสะอาด ผ้าที่เช็ดมือต้องสะอาด”
🔸ความคิดเห็นจากผู้บริโภค💬 เช่น
“ไม่ชอบเหมือนกันเวลาเห็นแม่ค้า ทาเล็บ ใส่แหวน ไว้เล็บยาว ปล่อยผมยาวสลวยเวลาทำ ส่วนผู้ชายอย่าใส่เสื้อกล้ามหรือถอดเสื้อทำเลยค่ะมันดูไม่เหมาะ ส่วนถุงมือขนมบางชนิดเข้าใจว่าใส่ถุงมือมันลำบาก และถ้าไม่ใส่คิดว่าแม่ค้าล้างมือง่ายกว่าเวลาหยิบจับอะไรไปแล้ว ถุงมือไม่ใส่แต่เล็บมือสั้นล้างก่อนทำ เรารับได้ค่ะ ส่วนตัวเคยอยู่ร้านของคนญี่ปุ่นมา คือ ระเบียบสะอาดมาก”
🔸เจ้าของร้านจิวเวลรี่คนอื่นๆ 💍
เจ้าของร้านจิวเวลรีร้านอื่น ๆ ก็ได้มาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้เช่นกัน “เอาประสบการณ์ตรงมาเล่าให้ฟัง ร้านเรารับซ่อมเครื่องประดับ มีลูกค้าประจำคนหนึ่งเอากำไลกับแหวนมาซ่อมและล้างกับทางร้าน กำไลกับแหวนจะมีคราบสกปรกที่คล้ายๆ แป้งกับสบู่เยอะมากๆ เราก็เฉยๆ นะซ่อมล้างทำความสะอาดไปตามปกติ พอหลังๆ สนิทกันลูกค้าเล่าให้ฟังว่าทำร้านอาหารขายราดหน้าหมูหมัก ชวนเราไปกินที่ร้านเล่าให้ฟังว่าทำเองทุกอย่างอร่อยแน่นอน เราเลยเข้าใจแล้วว่าทำไมเครื่องประดับที่เอามาซ่อมและล้างเกือบทุกชิ้นมันมีคราบสกปรกติดเยอะ เราถามเขาตรงๆ ว่าใส่กำไลและแหวนทำอาหารด้วยหรอคะ ลูกค้าบอกพี่ใส่ตลอดค่ะ นอนยังใส่เลย เราก็แนะนำไปว่ามันไม่ควรนะคะ ก็ไม่รู้ว่าเขาเชื่อหรือป่าว”
“เราก็ทำร้านจิวเวลรี่บอกเลยว่า สภาพที่ลูกค้าเอาแหวนมาให้ทำความสะอาดหรือซ่อม เต็มไปด้วยคราบสะสมต่างๆ เวลาแคะออกมาก็ยากมาก เวลาเขานวดแป้ง หยิบจับส่วนผสม บอกเลยว่า ปนเปื้อนไปแล้วเรียบร้อย” เป็นต้น
เพราะว่า “ความสะอาด” ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานความปลอดภัยในการทำร้านอาหาร ที่มีผลต่อทั้งภาพลักษณ์ของร้านและความมั่นใจในการมาใช้บริการของผู้บริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะขายสินค้าที่เป็นอาหาร ทั้งเบเกอรี เครื่องดื่ม หรือเปิดร้านอาหารเลย ก็ควรคำนึงถึงหัวใจหลักตรงนี้เป็นสำคัญด้วย