“อร่อยไม่ซ้ำ จำสูตรไม่ได้”
ประโยคแซวขำๆ ที่ลูกค้าอาจไม่ขำ
3 องค์ประกอบที่ต้องยึด ควบคุมรสชาติอาหาร
“อร่อยไม่ซ้ำ จำสูตรไม่ได้” ประโยคที่แซวเล่นกันขำๆ แต่ลูกค้าอาจไม่ขำ และถือเป็นวิธีไล่ลูกค้าวิธีหนึ่งเลยก็ว่าได้ วันก่อนแอดได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้านคาเฟ่มือใหม่คนหนึ่ง ถึงวิธีการทำร้าน การจัดการต่าง ๆ โดยระหว่างที่คุยกันตอนหนึ่งของบทสนทนาเจ้าของร้านก็ได้เปิดใจกับแอดว่า “ด้วยความที่เขาเป็นมือใหม่ เพิ่งเปิดร้านได้ไม่นาน ทำให้ยังกะส่วนผสมเครื่องดื่มแต่ละแก้วไม่โปรเท่าไหร่ หลายครั้งจึงประสบปัญหาลูกค้าคอมเพลนเรื่องรสชาติ รสชาติไม่เหมือนเดิมบ้าง เข้มไปบ้าง จนบางทีก็ทำให้เขารู้สึกเสียเซล์ฟจนอยากปิดร้านไปเลย”
.
ต้องยอมรับว่าเรื่อง “มาตรฐานรสชาติ” ถือเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม ยิ่งมีหลายสาขา ก็ยิ่งต้องควบคุมมาตรฐานรสชาติให้ดี ให้เหมือนกันในทุก ๆ สาขา เพราะมาตรฐานของรสชาติเป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้นและลูกค้าส่วนใหญ่ก็พอใจและยอมรับในรสชาตินี้ ดังนั้นจึงต้องปรุงให้มีรสชาติที่คงที่ เพื่อรักษาความพึงพอใจของลูกค้า แล้วจะทำให้ทุกจาน ทุกแก้วรสชาติเหมือนกันต้องทำยังไง ? โพสต์นี้มีคำตอบ!
.
การสร้างมาตรฐานรสชาติ มีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง
วิธีการทำ
.
ร้านอาหารอาจอาศัยการทำ SOP (Standard Operating Procedure) “คู่มือมาตรฐานเชิงปฏิบัติการ” หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “คู่มือร้านอาหาร” ก็ได้ ซึ่ง SOP คือคู่มือที่ใช้บันทึกข้อมูลการทำงานในทุก ๆ ตำแหน่งในร้านอาหาร
เป็นตัวช่วยในการควบคุมมาตรฐานของร้านอาหารให้คงที่ ทั้งรสชาติ หน้าตาอาหาร รูปแบบการบริการและอื่น ๆ ในกรณีที่เรามีหลายสาขา แล้วต้องจ้างคนมาทำ การมี SOP ก็จะทำให้การเทรนพนักงานเป็นเรื่องง่าย เพราะเราได้บันทึกสูตรและขั้นตอนการทำที่ชัดเจนไว้แล้ว
ตรงกันข้ามถ้าร้านไม่มี SOP และปล่อยให้การทำอาหารเป็นไปตามคนปรุง พนักงานบางคนใส่น้ำตาล 4 ช้อน บางคนใส่ 3 ก็ส่งผลต่อรสชาติที่ลูกค้าได้รับแล้ว
วัตถุดิบ
.
ใช้วัตถุดิบแบบไหนให้ซื้อแบบเดิม เช่น ใช้พริกแบบไหน ข่าแบบไหน หรือเนื้อเกรดไหนในเมนูอาหารของร้าน ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นของลดราคาแล้วเปลี่ยนไปซื้อ แต่ของคุณภาพไม่เท่ากัน รสไม่เหมือนกัน ก็มีผลต่อรสชาติ รสสัมผัสของเมนูอาหารจานนั้น ๆ ด้วยเหมือนกัน
เครื่องมือ
.
เมื่อต้องการควบคุมมาตรฐานสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เครื่องมือในการชั่ง ตวง วัด เพราะถ้าไม่ทำ แล้วใช้การกะ การประมาณหรือความเคยชิน โอกาสที่รสชาติจะเพี้ยนก็มีสูง ดังนั้นควรมีการสร้างมาตรฐานสูตร (Standard Recipe) ไว้เลยว่าจานนี้ แก้วนี้ต้องใส่อะไรเท่าไหร่ รสชาติ หน้าตายังไง เช่น การกำหนดมาตรฐานของเมนูคอหมูย่าง ในหนึ่งจานต้องมี 20 ชิ้น สีของคอหมูต้องเป็นสีน้ำตาลทอง และต้องเป็นคอหมูที่มีมันหมู 60% เท่านั้น เป็นต้น
.
นอกจากนี้เมื่ออาหารของเรามีมาตรฐานรสชาติแล้ว ก็ยังต้องมีการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบ เพื่อเช็คว่ารสชาตินี้โอเคหรือยังด้วย โดยอาจใช้การชิมเอง สังเกตจากสีหน้าลูกค้าเมื่อทานเข้าไปแล้ว หรือดูว่าลูกค้ากินหมดไหม ไปจนถึงถามลูกค้า ถ้าทำทุกอย่างได้ตรงตามมาตรฐาน 100% ทีนี้ก็ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหารสชาติไม่คงที่ได้แล้ว คนชงไม่เสียเซล์ฟ ที่สำคัญลูกค้าแฮปปี้
.
#AmarinAcademy #ร้านอาหาร