ถอดรหัสร้านอาหารพันล้าน - Amarin Academy

ถอดรหัสร้านอาหารพันล้าน

ถอดรหัสร้านอาหารพันล้าน

วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มาฟังสัมมนาธุรกิจร้านอาหารที่ SCB Business Center สาขาสยามสแควร์ ซอย 1 ในหัวข้อ “เคล็ดลับธุรกิจร้านอาหาร ตอน ต่อยอดอย่างไรให้รุ่ง” ซึ่งจัดมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยมีพี่เบสท์ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ แห่งร้านตำมั่ว และพี่บุ๋มบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ แห่งร้านบาร์บีคิวพลาซ่า มาแชร์ประสบการณ์ถึงการขยายสาขา คุณภูกิจ ดิศธรานนท์จาก แสนรัก อารูกัส เรื่องการจัดการกับ Crisis ในโลกโซเชียล รวมไปถึงตัวช่วยธุรกิจเดลิเวอรี่อย่าง LINE MAN ที่ช่วยให้ร้านอาหารสามารถเพิ่มรายได้โดยไม่มี Fixed cost ที่เพิ่มขึ้น

จริง ๆ เสียดายงานสัมมนาในสองครั้งแรกมาก ๆ แต่ดันติดธุระ ครั้งนี้เลยล็อคคิวตัวเองล่วงหน้าหลายอาทิตย์ และก็ไม่ผิดหวังวันนี้ได้แนวคิดดี ๆ จากพี่บุ๋ม และพี่เบสกลับไปมาก ซึ่งมีไม่บ่อยหรอกที่เราจะได้ฟังเจ้าของธุรกิจอาหารระดับพันล้านถึงสองแบรนด์พร้อมกัน เลยถือโอกาสรวบรวมมาให้ทุกคนได้ลองศึกษา และนำกลับไปปรับใช้กัน

 

เป้าหมายต้องชัดเจนและรู้จักตัวเองก่อน

ก่อนที่คุณจะคิดขยายสาขาคุณต้องรู้ว่าเป้าหมายในการทำร้านของคุณคืออะไร คุณแฮปปี้กับการมีสาขาเดียวที่คุณทำทุกอย่างด้วยตัวเอง หรืออยากมีสาขาเยอะ ๆ เพื่อสร้างรายได้ที่มากขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับการสร้างระบบที่ยุ่งยาก

บาร์บีคิวพลาซ่าเลือกการขยายสาขาโดยการใช้เงินตัวเองทั้งหมด ต่างกับทางร้านตำมั่วที่เลือกใช้วิธีการขยายสาขาโดยการขายแฟรนไชส์ ซึ่งทั้งสองแบรนด์ต่างก็ประสบความสำเร็จในวิธีการของตัวเองทั้งคู่

การขยายสาขาด้วยเงินตัวเองนั้นมีข้อดีตรงที่กำไรเป็นของเราคนเดียวไม่ต้องไปแบ่งใคร สามารถปรับเปลี่ยนตามที่เราต้องการได้ตลอดเวลา แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนในการขยายสาขาที่มาก และเวลาขาดทุนเราก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด

ต่างกับการขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ที่เรามีผู้ร่วมทุนมาช่วยกระจายความเสี่ยง และมาช่วยบริหารร้านในฐานะเจ้าของร้านไม่ใช่แค่ฐานะผู้จัดการร้าน แต่ในขณะเดียวกันกำไรก็จะลดลง และหลาย ๆ แบรนด์ก็มักจะมีปัญหากับแฟรนไชส์ซีที่ไม่เคร่งครัดในกฏระเบียบ และมาตรฐานที่จากแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแบรนด์) กำหนด จนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าของแบรนด์

ถ้าถามว่าวิธีไหนดีกว่ากัน คงต้องกลับไปมองตัวเองก่อนว่าเรามีความพร้อมแค่ไหนทั้งในเรื่องของเงินลงทุน ระบบ แบรนด์ดิ้ง และทีมงาน

พี่เบสบอกว่าวันที่เริ่มร้านตำมั่วสาขาแรก ไม่ได้มีเงินทุนมากมายอะไร และเป้าหมายของพี่เบสเองก็คือการขยายสาขาออกไปให้ได้มาก โดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินตัวเองมาก ฉะนั้นโมเดลที่เหมาะที่สุดก็คือการขยายด้วยแฟรนไชส์ แต่กว่าจะเริ่มขายแฟรนไชส์ออกไปนั้น ทางตำมั่วเองก็ได้ขยายสาขาเองมาระดับหนึ่งจนแน่ใจเรื่องระบบการจัดการและมาตรฐาน

ส่วนทางบาร์บีคิวพลาซ่าเองนั้นเลือกที่จะเป็นเจ้าของเองทั้งหมด เพราะไม่ได้ติดในเรื่องของเงินลงทุน ระบบการจัดการ และทีมงาน อีกทั้งคิดว่าระบบของทางร้านเองอาจยังไม่ดีพอสำหรับการขยายแฟรนไชส์

 

ความยากไม่ใช่การขยายสาขาแต่คือการทำให้ทุกสาขามีมาตรฐานเดียวกัน

ถ้าคุณเป็นคนที่มีทุนอยู่แล้วจะขยายกี่สาขาก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่จะตามมาทันทีเมื่อคุณมีหลายสาขาก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกสาขามีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ไปสาขานี้รสชาติและบริการแบบหนึ่ง ไปอีกสาขาเป็นอีกแบบ หลาย ๆ แบรนด์ต้องล้มหายตายจากไป เพราะลูกค้าไม่สามารถคาดเดารสชาติและบริการของร้านแต่ละสาขาได้เลยว่าเป็นอย่างไร

ในการทำมาตรฐานร้านหลายร้าน ๆ คงคิดว่าแค่มีสูตรอาหารก็เพียงพอแล้ว แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพ่อครัวของคุณสามารถทำอาหารออกมาได้ตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทั้งเรื่องรสชาติปริมาณวัตถุดิบ หรือรูปแบบการปรุงที่การสลับขั้นตอนการปรุงนิดเดียวอาจทำให้รสชาติที่กำหนดไว้เพี้ยนได้เลย

ซึ่งพี่เบสบอกว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าสูตรอาหารคือระบบร้านอาหาร ระบบที่จะทำให้ร้านสามารถปั๊มขยายสาขาออกไปได้อย่างรวดเร็ว ระบบที่ไม่ได้พึ่งตัวบุคคลเพราะความสามารถของคนส่งต่อไม่ได้ แต่ระบบที่ดีส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ ทั้งตำมั่ว และบาร์บีคิวพลาซ่าเลยจำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบจัดการกลาง และครัวกลางเพื่อผลิตซอสและวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งนอกจากมาตรฐานของอาหารแล้ว มาตรฐานของการบริการก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งเช่นกัน เราจะทำอย่างไรให้พนักงานร้านทุกสาขามีบริการที่เหมือนกัน ฉะนั้นการสร้างระบบเทรนนิ่งจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องวัตถุดิบเลย

 

อย่าหวังสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจอาหาร

ถึงแม้ว่าทั้งสองแบรนด์นี้จะมีวิธีการขยายสาขาที่ต่างกันแต่สิ่งที่พี่บุ๋มและพี่เบสเห็นตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ การทำร้านอาหารในทุกวันนี้มันไม่มีสูตรสำเร็จอีกต่อไปแล้ว วิธีที่ใช้ได้เมื่อปีที่แล้วอาจใช้ไม่ได้แล้วกับปีนี้ เช่นเดียวกับวิธีที่ทำให้ร้านหนึ่งประสบความสำเร็จอาจไม่สามารถใช้ได้กับร้านเรา

จะเห็นได้ว่ามีหลายร้านที่เคยเป็นร้านดังในอดีต แต่มาในยุคนี้แทบจะไม่มีคนรู้จักอีกต่อไปแล้ว มันอาจไม่ใช่เพราะอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม แต่เป็นเพราะกลุ่มลูกค้าเดิมเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เมื่อพวกเขาโตขึ้นพฤติกรรมเปลี่ยน รสนิยมก็เปลี่ยน จากร้านที่เคยเป็นร้านโปรดอาจเปลี่ยนไปทานร้านอื่น ลูกค้าเปลี่ยนแต่ร้านไม่เปลี่ยน สิ่งที่เจอคือลูกค้าใหม่ไม่เข้าร้าน ลูกค้าเปลี่ยนไปทานร้านอื่น ร้านที่เคยเต็มก็กลับกลายเป็นไม่มีคน

พี่บุ๋มได้แชร์ว่า แบรนด์ใหญ่เองก็ไม่ใช่ไม่เจอปัญหา ปัญหาหลักของแบรนด์ใหญ่ที่อยู่ในห้างคือ การที่พฤติกรรมลูกค้าเดินห้างน้อยลงเทียบกับสมัยก่อน และชอบลองร้านแปลก ๆ ใหม่ ๆ มากขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตของร้านอาหารเชน (Chain restaurant) ลดลง บาร์บีคิวพลาซ่า จึงต้องมีการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

ในส่วนของตำมั่วเองจากที่ไม่เคยสนใจเรื่องเดลิเวอรี่ก็ต้องมาโฟกัสตลาดนี้ให้เยอะมากขึ้น เพราะสมัยก่อนลูกค้าต้องวิ่งไปหาร้านอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ร้านกลับต้องวิ่งไปหาลูกค้าแทน ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน คู่แข่งของร้านอาหารเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ร้านอาหารที่มีหน้าร้านอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วแต่รวมไปถึงร้านอาหารในออนไลน์ด้วย

 

จงทำปัญหาที่ใหญ่กลายเป็นเรื่องที่เล็ก

ต่อให้ไม่ว่าคุณจะเป็นร้านอาหารเล็กหรือร้านใหญ่ จะมีสาขาเดียวหรือหลายร้อยสาขา ทุกร้านล้วนมีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น แค่รูปแบบของปัญหาอาจแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าคุณลองสังเกตให้ดีปัญหาของร้านอาหารที่คุณเจอนั้นมักจะเกิดซ้ำ ๆ กัน

หลาย ๆ ปัญหาที่คุณเจอวันนี้ ล้วนเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น และพรุ่งนี้ก็มีโอกาสที่จะเจออีก เช่น ปัญหาพนักงานขาดงาน อัตรา Turnover สูง วัตถุดิบหมด เสิร์ฟอาหารผิดโต๊ะหรือลูกค้าไม่พอใจ แต่ถ้าคุณมีมาตรฐานการทำงานหรือ SOP (Standard operating procedure) ในการแก้ปัญหานั้น ๆ แล้ว เวลาปัญหาเดิมเกิดขึ้นมาอีกพนักงานคุณจะรู้วิธีจัดการกับมัน ปัญหาที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นเรื่องที่เล็กลง แต่จะให้เรื่องเหล่านี้มันหายไปจากร้านอาหารเลยมันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้กระทั่งร้านอาหารที่เปิดมานานมีหลายร้อยสาขาอย่างบาร์บีคิวพลาซ่าหรือตำมั่วก็ยังเจอเหมือนกัน แต่แค่ต่างกับร้านทั่วไปตรงที่รู้วิธีการแก้ปัญหาก่อนที่จะลุกลามเป็นเรื่องใหญ่

 

ร้านมีปัญหาให้แก้ที่ตัวเจ้าของเป็นอันดับแรก

เขาว่ากันว่าธุรกิจคือกระจกสะท้อนตัวตนของเจ้าของ ธุรกิจเราเป็นอย่างไรตัวเราเองก็เป็นอย่างนั้น ร้านอาหารเองก็เช่นกัน ร้านที่เจ้าของร้านเป็นเชฟ ร้านนั้นมักมีเมนูที่อร่อยดูน่าสนใจ แต่อาจมีปัญหาในเรื่องระบบการจัดการ และการทำการตลาด เพราะเชฟก็จะโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองถนัดเท่านั้น เช่นเดียวกับร้านที่เจ้าของสนใจแต่การตลาดโดยที่ไม่มีความรู้เรื่องตัวอาหารเลย ร้านนั้นอาจมีการตลาดที่ดีน่าสนใจ แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานรสชาติ และการจัดการวัตถุดิบ

ร้านอาหารที่ดีจะมีด้านดีเพียงด้านเดียวไม่ได้ ทุก ๆ ด้านจะต้องสมดุลกันทั้งเมนู รสชาติ การตลาด การจัดการ และการบริการ ยุคนี้เจ้าของร้านจะต้องมีความรู้ มีทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา จะต้องมี Growth mindset คือ มองทุกปัญหาเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่ Fixed mindset ที่มัวแต่ยึดติดกับความคิดเดิม ๆ วิธีการเดิม ๆ ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง

การที่เจ้าของไม่รู้เรื่องไหนไม่ใช่เรื่องผิดเพราะการทำร้านอาหารนั้นจำเป็นต้องให้ความรู้หลาย ๆ ด้านเข้ามาประกอบกัน ยิ่งเจ้าของรู้จักที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา และหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำอีก จะทำให้ร้านสามารถโตต่อไปได้อย่างมีระบบ

 

เพิ่งเริ่มเปิดร้านอย่าเพิ่งคิดถึงการขยายสาขา

พี่บุ๋มให้แนวคิดที่น่าสนใจไว้ว่า จงทำสาขาแรกหรือสาขาเดียวที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน อย่าเพิ่งไปคิดถึงการขยายสาขา เพราะเมื่อไหร่คุณไปพะวงกับการขยายสาขาอาจทำให้คุณหลุดโฟกัสสิ่งที่ต้องทำตรงหน้าไป

อย่างร้าน Charna แบรนด์สุกี้แบบใส่ใจสุขภาพและ Space Q แบรนด์ปิ้งย่างสำหรับคนเมืองที่รักโซเชียลสองแบรนด์ใหม่ของทางเครือ Food Passion (ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า) พี่บุ๋มบอกว่าถึงแม้ทุกครั้งที่เราทำแบรนด์ไหนก็ตามขึ้นมา ในทางบริหารเราต้องตั้งเป้าในการขยายสาขาอยู่แล้ว แต่พอเราเริ่มทำสาขาแรก เราจะทดเรื่องเหล่านั้นไว้ในใจก่อน เพราะเมื่อไหร่ที่เราทำสาขาแรกได้ดีเดี๋ยวสาขาต่อ ๆ ไปมันก็จะมาเอง คงไม่มีแบรนด์ไหนอยากขยายสาขาสองถ้าสาขาแรกลูกค้ายังไม่เต็มหรอก

สิ่งที่เราจะต้องทำคือให้ลูกค้าที่มาทานครั้งแรกกลับมาทานซ้ำให้ได้ (Repeat customer) เมื่อไหร่ที่เรามีลูกค้าประจำมากพอ วันนั้นถึงค่อยพิจารณาเรื่องการขยายสาขา อย่างตำมั่วเองกว่าจะตัดสินใจขยายสาขาที่ 2 ก็เมื่อวันที่สาขาแรกคนเต็มทุกรอบทุกวันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน

 

รสชาติอาหารคือพื้นฐานของธุรกิจ

ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร สิ่งที่คุณจะต้องให้ความสำคัญที่สุดก็คือตัวโปรดักส์ซึ่งเป็นพื้นฐานของของธุรกิจนั้น ถ้าคุณเป็นบริษัทที่ขายบ้านโดยคุณโฆษณาบ้านคุณอยู่ในทำเลที่ดีอยู่สบาย แต่หลังคาบ้านคุณยังน้ำรั่ว โครงสร้างแตกร้าว สิ่งที่คุณโฆษณาไปก็คงไม่มีความหมาย ร้านอาหารเองก็เช่นกัน รสชาติ และคุณภาพของอาหารคือสิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจนี้

ต่อให้คุณจะทำการตลาดดีแค่ไหน ถ้าอาหารของคุณดูไม่น่าทาน และไม่อร่อยคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกค้าคนนั้นกลับมาร้านคุณอีก

พี่เบสได้ให้แง่คิดที่ดีไว้อย่างหนึ่งว่า ร้านแต่ละร้านจะต้องมีจุดเด่นในตัวเอง คุณจะต้องรู้ว่าคุณเก่งอะไรไม่เก่งอะไร เช่น ถ้าคุณบอกว่าร้านคุณถนัดเรื่องส้มตำ ถนัดเรื่องอาหารรสจัด คุณก็ต้องมั่นใจว่าไม่มีร้านไหนทำได้อร่อยกว่าคุณ คุณต้องยึดมั่นในตัวตนของคุณไม่ใช่ปรับไปตามลูกค้าซึ่งจะทำให้คุณสูญเสียตัวตนไป

Social listening เครื่องมือจำเป็นสำหรับธุรกิจยุคนี้

นอกจากที่ได้ฟังพี่เบสกับพี่บุ๋มพูดถึงเรื่องการขยายสาขาแล้ว ยังมีผู้ก่อตั้งเครื่องมือที่ช่วยมอนิเตอร์เรื่องราวในออนไลน์ของแบรนด์อย่าง แสนรัก อารูกัส มาเล่าให้ฟังถึงเรื่องการจัดการวิกฤตบนโลกโซเชียล (Online Crisis Management) เพราะธุรกิจทุกวันนี้ไม่สามารถโตได้แต่ในออฟไลน์อีกต่อไปแล้ว

ซึ่งประโยชน์ของ Social listening นั้นนอกจากจะทำให้เรารู้เรื่องราวทั้งด้านบวกและลบของแบรนด์เราในออนไลน์ได้แบบ Real time แล้วนั้น เพื่อหาวิธีรับมือได้ทันท่วงที ยังเป็นตัวเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าเราในออนไลน์เพื่อนำมาให้กำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ต่อไปได้ด้วยโดยไม่ต้องเสียเวลาทำ Research รวมไปถึงทำให้เรารู้ว่าลูกค้าคิดอย่างไรกับแบรนด์เรา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับแบรนด์ในยุคนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจร้านอาหารที่ลูกค้ามักตัดสินใจเลือกไปทานหรือไม่ไปทานจากการพูดถึงในออนไลน์เป็นหลัก

ธุรกิจ Food Delivery  ช่องทางการเพิ่มยอดขายง่าย ๆ สำหรับร้านอาหาร

สำหรับร้านอาหารที่มีหน้าร้านอยู่แล้วการเพิ่มช่องทางการขายด้วยการทำเดลิเวอรี่นั้นนอกจากจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนแล้ว ยังทำให้ร้านได้กำไรต่อหน่วยมากกว่าการขายหน้าร้านปกติด้วย เพราะจะไม่มี Fixed cost อย่างค่าเช่าหรือค่าพนักงานเพิ่มเติม อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสิ่งที่แอปพลิเคชันอย่าง LINE MAN พิเศษกว่าระบบอื่น ๆ คือการที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Wongnai และ Wongnai POS ได้โดยตรง ทำให้สะดวกต่อร้านอาหารเป็นอย่างมาก และถือว่าตอบโจทย์สำหรับยุคที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้

 

แล้วแว่ว ๆ มาว่าทาง SCB SME เองเตรียมที่จะมีสัมมนาใหญ่ด้านร้านอาหารที่จะรวบรวมซัพพลายเออร์ต้นน้ำยันปลายน้ำ เทคโนโลยี รวมไปถึงเครื่องมือต่าง ๆ จากภาครัฐมาไว้ในงานเดียวในต้นปีหน้านี้ ถือว่าเป็นธนาคารแรกที่เข้าใจเจ้าของร้านอาหารอย่างเราจริง ๆ และถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารดี ๆ อย่าลืมเข้าเป็นสมาชิก SCB SME Community ได้ที่ facebook.com/groups/scbsme

 

ต่อเพนกวิน

 

เรื่องแนะนำ

หลักสูตร “เพิ่มยอดขายร้านอาหารด้วย Social Media รุ่นที่ 1”

การใช้ Social Media โปรโมทร้าน ไม่ต่างอะไรกับการตะโกนท่ามกลางเสียงผู้คนมากมาย พูดดีแค่ไหนก็ไม่มีใครได้ยิน หลักสูตร เพิ่มยอดขายด้วย Social Media ช่วยคุณได้

ลูกค้าจ่ายสะดวก ร้านรับเงินสบายด้วย QR บัตรเครดิต

QR บัตรเครดิต เป็นบริการใหม่จาก SCB ซึ่งการใช้งานก็ไม่ต่างจาก “แม่มณี” ที่ร้านค้าใช้รับเงินโอน อันนี้ก็เปลี่ยนจากการรับเงินโอนมาเป็นการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตแทน

กรณีศึกษา ทำร้านอาหารกับแฟน หุ้นทำร้านอาหารกับแฟน เอาเงินเก็บไปลงทุน แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย

กรณีศึกษา “ทำร้านอาหารกับแฟน” สาวแชร์ปัญหาหุ้นทำร้านอาหารกับแฟน เอาเงินเก็บไปลงทุน แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ทุกคนเคยเจอปัญหาเดียวกันนี้ไหม? ลงทุน ทำร้านอาหารกับแฟน แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาจุกจิกที่ยากจะแก้ เพราะว่าเป็นคนใกล้ตัว คุยกันได้ลำบาก คุยกันก็มีแต่จะทะเลาะ จนแก้ไม่ได้สักที เช่นเดียวกับเจ้าของกระทู้พันทิปรายนี้ ที่ต้องพบเจอกับปัญหาเมื่อได้หุ้นทำร้านอาหารกับแฟน เป็นกระทู้พันทิปที่ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตมาก ๆ กับกระทู้ “อย่าลงทุนและทำงานกับแฟน เข้าใจคำนี้แล้วจริง ๆ” ที่เจ้าของกระทู้ได้มาบรรยายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเธอลงทุนทำธุรกิจกับแฟน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งปัญหาด้านความสัมพันธ์และเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เธอจนปัญญาจะแก้ไขแล้ว จึงต้องมาขอคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเธอได้เขียนเล่าไว้ใจความว่า ไว้ใจแฟนมากๆ เธอกับแฟนคบกันมา 8 ปีกว่าแล้ว และกำลังจะแต่งงานกัน ที่ผ่านมาแฟนเธอดีมาตลอด เรื่องเงินไม่เคยงก ช่วยๆ กันจ่ายตลอด และต่างคนต่างทำงานประจำ โดยเธอมีรายรับที่มากกว่าแฟน เพราะเงินเดือนสูงกว่า เมื่อเก็บเงินได้คนละก้อนเธอและแฟนจึงตัดสินใจหุ้นกันเปิดร้านอาหารในสัดส่วนเงินที่เท่าๆ กัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าไม่ควรทำงานหรือลงทุนกับแฟน เพราะส่วนใหญ่มักจบไม่สวย ซึ่งในการทำธุรกิจครั้งนี้ แฟนของเธอเป็นคนเสนอไอเดีย รวมทั้งคิดสูตรอาหารทั้งหมด ส่วนเธอมีหน้าที่จัดการหลังร้าน เธอจึงยกเปอร์เซ็นต์หุ้นให้แฟนมากกว่า (70:30) ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้คิดอะไร เพราะเป็นแฟนตัวเอง อีกทั้งแฟนของเธอยืนยันว่าจะขอจัดการเรื่องเงินเอง ขอให้เงินทุกบาทเข้าบัญชีแฟนทั้งหมด […]

ถอดรหัสร้านอาหารพันล้าน

มีโอกาสมาฟังสัมมนาที่ SCB Business Center ในหัวข้อ “ต่อยอดอย่างไรให้รุ่ง” โดยมีพี่เบสท์ ร้านตำมั่ว และพี่บุ๋ม ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า มาร่วมแชร์ประสบการ์ดีๆ

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.