จดทะเบียนบริษัท ร้านอาหารต้องรู้อะไรบ้าง ?
ถ้าให้เจ้าของร้านอาหารเล่าให้ฟังว่าตอนวันแรกๆ ที่เปิดร้าน ต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง ผมว่าคงเล่าได้เป็นวันๆ เลยใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องลูกน้อง การหมุนเงิน การซื้อวัตถุดิบ หรือยอดขายไม่มากพอ ฯลฯ มีแต่ปัญหาชวนปวดหัวทั้งนั้น แต่วันนี้ ผมอยากมาชวนให้คิดถึง Good problem หรือปัญหาที่เมื่อเกิดขึ้น แสดงว่าธุรกิจกำลังไปได้ดีกันบ้าง และหนึ่งในปัญหานั้นคือ “จะทำธุรกิจในนามบุคคลแบบนี้ต่อไป หรือจะ จดทะเบียนบริษัท ดีกว่ากัน?”
หลายคนเริ่มต้นจากการขายอาหารในนามบุคคลธรรมดา คำอาจจะดูงงๆ นิดหน่อย พูดง่ายๆ ก็คือเวลารับเงิน หรือออกเอกสารพวกใบเสร็จต่างๆ ให้ลูกค้า เราก็ใช้ชื่อ – นามสกุลเรานี่แหละ
ข้อดีก็คือ ได้ความคล่องตัวและไม่มีขั้นตอนซับซ้อน เช่น การทำบัญชีก็บันทึกง่ายๆ แบบรายรับ/รายจ่าย ไม่ต้องจัดทำงบการเงินเพื่อนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและลดจำนวนแบบฟอร์มทางภาษีที่ต้องยื่นระหว่างเดือน
ถ้าอย่างนั้น แล้วทำไมเมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดหนึ่ง คนส่วนมากถึงหันมาจดทะเบียนบริษัทกันล่ะ?
“เพราะว่าบริษัทเสียภาษี น้อยกว่าบุคคลธรรมดา”
อ่านถึงประโยคนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบวิ่งไปจดทะเบียนบริษัทนะครับ แนะนำให้อ่านต่ออีกนิด เพื่อประกอบการตัดสินใจ
“ก่อนตัดสินใจ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?”
1.พิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพิ่มว่าคุ้มค่าหรือไม่
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี
- ค่าจดทะเบียนบริษัท ขั้นตอนนี้หากทำเอกสารไปยื่นเอง ค่าธรรมเนียมที่ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเก็บก็จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 บาท สำหรับทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่หากรู้สึกว่าทนความซับซ้อนของการกรอกเอกสารทั้งหลายไม่ไหว บริษัทบัญชีหลายแห่งก็รับทำให้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000-5,000 บาท
- ค่าจ้างพนักงานบัญชี (เป็นพนักงานประจำ) หรือจะจ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีเป็นรายเดือนก็ได้ ค่าใช้จ่ายมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภท และขนาดของธุรกิจ
- ค่าจัดทำงบการเงินตอนสิ้นปีและค่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเพื่อเซ็นรับรองความถูกต้องของงบการเงิน (ปีละครั้ง) โดยเท่าที่เห็นมาคร่าวๆ สำหรับกิจการที่เติบโตจะมีค่าใช้จ่ายก้อนนี้ประมาณตั้งแต่ 20,000 ขึ้นไปต่อปี (อันนี้ไม่นับบริษัทที่จดขึ้นมาแล้วทิ้งไว้เฉยๆ นะครับ แล้วก็ขึ้นกับสำนักงานบัญชีแต่ละที่ด้วย)
2.มองหาผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มได้หรือยัง
เพราะการจดทะเบียนบริษัทยังคงต้องมีผู้ถือหุ้นบริษัทอย่างน้อย 3 คน แต่ละคนจะมากจะน้อยก็ได้ หรือมีหุ้นเดียวก็ได้
3.พร้อมรับมือกับความยุ่งยากเรื่องเอกสารหรือไม่
ตั้งแต่ขั้นตอนเอกสารต่างๆ จนถึงการยื่นแบบทางภาษีที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น การออกใบหัก ณ ที่จ่าย การยื่นแบบ ภงด.3 (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หากเรามีการจ่ายเงินที่เป็นค่าบริการให้กับบุคคลอื่น) หรือ ยื่นแบบ ภงด.53 (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หากเรามีการจ่ายเงินที่เป็นค่าบริการให้กับบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น)
ถ้าไม่จ้างคนทำบัญชี ก็ต้องจดต้องจำให้ดีเลยนะครับ เพราะหากเลยกำหนดหรือยื่นไม่ครบ ก็อาจจะมีค่าปรับจากการที่เราความจำไม่ค่อยดีด้วย
3.พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้การบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่
พอเปลี่ยนมาเป็นบริษัท การทำบัญชีก็จะต้องเป็นไปตามหลักการต่างๆ เช่น จากปกติเวลาเราซื้อของก็บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย พอจดบริษัทปุ๊บ ก็ต้องจดว่าเป็นสินทรัพย์คอยตัดค่าเสื่อมแต่ละปี ตามจำนวนปีที่กำหนด หลายคนรู้สึกขัดออกขัดใจ เพราะต้องเก็บข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันนี้ต้องเตรียมใจไว้ด้วยนะครับ
4.รายได้มากถึงจุดที่คุ้มที่จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจในนามบริษัทหรือยัง?
ข้อสุดท้ายแต่น่าจะสำคัญที่สุดคือ ข้อนี้แล้วแต่กิจการเลยจริงๆครับ เพราะความสามารถในการทำรายได้ และจำนวนค่าใช้จ่ายแต่ละธุรกิจก็แตกต่างกันไป แต่ก็แนะนำให้ประมาณการคร่าวๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อวางแผนและเตรียมตัวนะครับ
การคำนวณหากใครรู้หลักการคร่าวๆ ก็คำนวนเองได้เลยครับ แต่หากใครรู้สึกว่าเจอตัวเลขทีไรงงทุกที ผมก็มีลิงก์ดีๆ ของ itax ที่ช่วยเปรียบเทียบค่าภาษีระหว่าง บุคคลธรรมดา กับ บริษัทให้กับร้านอาหาร/เครื่องดื่มมาแชร์ครับ ลองคำนวณดูว่าร้านเราพร้อมหรือยัง? คลิก เปรียบเทียบภาษี
ความเห็นจาก ถามอีก กับอิก เรื่องลงทุน
จริงๆ แล้ว การจ่ายภาษีน้อยลงไม่ใช่ข้อดีข้อเดียวของการจดบริษัทหรอกนะครับ ถึงแม้จะยุ่งยากนิดหน่อย มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การจดบริษัทช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของเรา ในสายตาของคู่ค้าที่เราทำธุรกิจด้วย เนื่องจากเป็นการบันทึกบัญชีตามหลักมาตรฐาน และมีคนภายนอกคอยตรวจสอบความถูกต้อง
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือตัวเลขผลการดำเนินงานที่ได้ ช่วยสะท้อนให้เราเห็นภาพธุรกิจที่ถูกต้อง ช่วยให้เราจัดการธุรกิจของเราได้ดีขึ้น ง่ายต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกด้วย รวมทั้งไม่ต้องคอยหลบเลี่ยงภาษี (เพราะยอดที่ต้องจ่ายมันสูงซะเหลือเกิน) ที่จะตามมาด้วยปัญหาน่าปวดหัวในภายหลัง