เปิดร้านออนไลน์ รู้ผิวๆ มีสิทธิ์ปิ๋ว ได้ง่ายๆ
ทุกวันนี้แทบไม่มีธุรกิจใดไม่หันมาทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น จากการสำรวจของ We are social และ Hootsuite เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลก พบว่าประเทศไทย มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 57 ล้านคน หรือคิดเป็น 82% ของประชากรทั้งประเทศ แถมยังคว้าแชมป์โลกด้านการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตสูงสุด คือ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวันอีกด้วย จากตัวเลขทั้งหมดนี้ ทำให้หลายธุรกิจปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นกลยุทธ์ใหม่ ที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด แต่การทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องง่าย หากผู้ประกอบการไม่ศึกษาให้รอบคอบ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงขอรวบรวมสิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อน เปิดร้านออนไลน์ มาให้ทุกคนทราบกัน
1.คู่แข่งมหาศาล!
สื่อออนไลน์ถือเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะใช้เงินลงทุนต่ำ ไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่แพงๆ ไม่ต้องมีพนักงานคอยเฝ้าร้าน แถมยังสามารถอัพเดตข้อมูลเพื่อ “ขายของ” ได้ตลอดเวลา ที่สำคัญสามารถทำเป็นอาชีพเสริมโดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานประจำ (จากเดิมที่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะออกจากงานที่มั่นคงมาลองเสี่ยงดีไหม พอทำเป็นอาชีพเสริมได้ก็แทบไม่ต้องกังวลใดๆ เลย)
ด้วยข้อดีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นใครที่สนใจอยากทำธุรกิจผ่านสื่อออนไลน์คงต้องคิดหนัก เพราะคู่แข่งของคุณมีจำนวนมหาศาล ทางออกที่ดีทางหนึ่งคือ ต้องพยายามสร้างความแตกต่างของธุรกิจตัวเองให้ได้ และควรทำให้เร็วที่สุด เพื่อคุณจะได้โดดเด่นท่ามกลางคู่แข่งอีกนับร้อยนับพัน
2.ออนไลน์ ไม่ฟรี ไม่มีเงินก็ไม่เป็นที่รู้จัก
“เปิดร้านออนไลน์ไม่ต้องเสียเงิน” หากเป็นเมื่อก่อนที่ Facebook หรือ Instagram ยังไม่ได้ปรับอัลกอริทึมใหม่ข้อความนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ทุกวันนี้ Facebook กลับปรับให้ผู้ใช้งานเห็นเพจจากร้านค้าน้อยลง (และเห็นข้อความจากเพื่อนมากขึ้น) ดังนั้นไม่ว่าคุณจะโพสต์ข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านมากแค่ไหน หากไม่จ่ายเงิน Boost post ก็แทบจะไม่มีใครเห็นเลย ดังนั้นใครที่จะกระโดดเข้ามาทำการตลาดออนไลน์ ก็ต้องเตรียมเงินสำหรับจ่าย “ค่าผ่านทาง” ให้กับ Facebook ด้วย บางร้านที่ต้องการเข้าถึงคนจำนวนมาก ก็อาจต้องยอมจ่ายเงินหลักหมื่นต่อเดือน เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นสินค้าของเรา หลักการนี้ไม่ต่างอะไรกับการเลือกทำเลตั้งร้าน ถ้าคุณอยากตั้งร้านในทำเลที่มีคนผ่านไปมาเยอะ คุณย่อมต้องจ่ายแพงกว่า ดังนั้นหากใครหวังพื้นที่ขายของฟรีๆ อาจจะต้องทำการบ้านหนัก (มากๆ) ในเรื่องการทำเนื้อหาให้น่าสนใจจริงๆ จนเกิดกระแสการแชร์ต่อในโลกโซเชียล
3.มีเงินก็ไม่พอ ต้องเข้าใจระบบด้วย
ข้อนี้เชื่อมโยงกับข้อที่แล้วคือ นอกจากจะมีเงินแล้ว คุณต้องรู้จักการทำงานของระบบ Facebook ด้วย โดยการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการทำให้ผู้ใช้งานรู้จักแบรนด์ของเรามี 2 ประเภท คือ Like Ad คือ จ่ายเงินเพื่อสร้างฐานแฟนเพจ (เรียกง่ายๆ ว่าซื้อไลค์) วิธีนี้จะทำให้มีคนติดตามเพจของคุณมากขึ้น ส่งผลให้เวลาคุณโพสต์ข้อความใดๆ ลงไป ก็จะมีคนเห็นโพสต์นั้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยรายละเอียดการซื้อ Like Ad นั้น ค่อนข้างซับซ้อน คุณต้องคัดเลือกภาพที่เหมาะสม สอดคล้องกับประเภทของเพจ เช่น หากคุณเปิดเพจร้านอาหารภาพที่ในโปรโมทก็ต้องเป็นภาพเกี่ยวกับอาหาร มีตัวอักษรปรากฎบนภาพไม่เกิน 20% ของภาพทั้งหมด ควรเป็นภาพที่มีความคมชัดสูง เป็นภาพที่ถูกลิขสิทธิ์ ฯลฯ หากคุณทำตามระเบียบของ facebook ได้ทั้งหมด โฆษณาโปรโมทของคุณก็จะมีผู้พบเห็นมากขึ้นตามไปด้วย (แถมราคาก็ถูกลง)
ส่วนอีกประเภทคือ Boost Post เป็นการจ่ายเงินเพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโพสต์นั้นๆ โดยตรง เช่น ร้านของคุณเพิ่งออกสินค้าใหม่ คุณย่อมอยากประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นมากที่สุด การซื้อ Boost Post ก็ถือว่าเหมาะสมสำหรับสถานการณ์นี้ โดยการรายละเอียดด้านภาพประกอบในการซื้อ Boost Post นั้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการซื้อ Like Ad แต่แตกต่างกันตรงที่ภาพไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเพจ
นอกจากนี้การเลือกกลุ่มเป้าหมายให้เห็นโพสต์ของเราก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษา เพราะถ้าเลือกกลุ่มเป้าหมายผิด เงินที่เสียไปก็อาจสูญเปล่าไปเลยก็ได้ (การเลือกกลุ่มเป้าหมายจะพูดถึงในบทความถัดไป)
4.ขายของอย่างเดียวไม่ปัง อยากดังต้องให้ความรู้
หากเราเป็นผู้บริโภค คงไม่อยากติดตามเพจที่วันๆ เอาแต่ขายของจริงไหม กลับกัน หากเพจมีการให้สาระความรู้ที่น่าสนใจหรือเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการแนะนำสินค้า ย่อมทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า โดยปัจจุบันหลายๆ เพจก็เริ่มหันมาทำเนื้อหาสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น Guss damn good ร้านไอศกรีมโฮมเมดที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาทำไอศกรีม และความเป็นมาของรสชาติต่างๆ หรือ Mo-Mo paradise ร้านชาบูชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกเนื้อ คุณประโยชน์ของผักต่างๆ ที่เสิร์ฟในร้าน ก็ทำให้คนอยากติดตามอ่านเนื้อหาของเพจมากขึ้น และเกิดการแชร์ความรู้ซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนๆ ทำให้ร้านเราเป็นที่รู้จักและเกิดการบอกต่อได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ Boost Post เลย
5.โพสต์ด่ายับ ดับภายในคืนเดียว
หากลองถามเจ้าของร้านที่ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียว่า สิ่งที่เขากลัวที่สุดคืออะไร โดยส่วนใหญ่ (เกินร้อยละ 90) มักตอบว่า “กลัวโดนโพสต์ด่า” เนื่องจากเพจของเราคือพื้นที่สาธารณะที่ลูกค้าสามารถให้คำแนะนำ ติชมได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการให้ดาว ตั้งแต่ 1-5 ฉะนั้นถ้าเราบริการแย่ หรือสินค้าไม่ดีตามที่โฆษณา อันดับดาวของเราอาจจะตกลงไปเหลือ 1-2 ก็เป็นได้ และทำให้ภาพลักษณ์เพจของเราติดลบ ดูไม่ดีในสายตาผู้บริโภค หรืออีกกรณีหนึ่งหากเขาไม่โพสต์ในเพจเรา ก็อาจโพสต์ในเพจตัวเอง หรือโพสต์ใน pantip ซึ่งหากร้านใดโดยโพสต์ตำหนิใน pantip ก็ถือเป็นหายนะได้เลยทีเดียว เพราะคนยุคใหม่มักเชื่อคำบอกต่อบนโลกโซเชียล แถมยังแชร์สิ่งเหล่านั้นออกไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้ธุรกิจของคุณสะดุดลงได้ในข้ามคืน และข้อความนั้นจะอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดไป ใครเสิร์จชื่อร้านคุณก็ต้องเจอ (ลูกค้าเก่าก็ด่า ลูกค้าใหม่ก็ไม่กล้าเข้า หายนะสุดๆ)
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำคือ รักษามาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดีที่สุด และต้องคำนึงไว้เสมอว่า การทะเลาะกับผู้บริโภคไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย
6.Copy เรื่องปกติของออนไลน์
โลกออนไลน์เหมือนดาบสองคม แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ของคุณย่อมกระจายสู่ผู้บริโภคในวงกว้าง ทำให้เป็นที่รู้จักในเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับกัน ความกว้างและเร็วนี้ ก็ส่งผลร้ายต่อธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน เพราะคนอื่นก็จะลอกเลียนแบบคุณได้ง่ายขึ้น เช่น ร้านของคุณอาจจะขายกระเป๋าแฮนด์เมด คุณอาจใช้เวลาดีไซน์และผลิตสินค้าชิ้นนี้นานนับเดือน เมื่อคุณเผยแพร่ไปบนโลกออนไลน์ และเป็นที่นิยมจนผลิตไม่ทัน ก็อาจมี “ผู้หวังดี?” ช่วยคุณผลิตกระเป๋าที่ดีไซน์เหมือนคุณเป๊ะ อาจต่างแค่ความละเมียดละไมและวัสดุที่ใช้ พร้อมวางจำหน่ายได้ในเวลาไม่กี่วัน แถมราคายังถูกกว่าด้วย โดยปัญหานี้ถือว่าแก้ไขได้ยากมาก เพราะกฎหมายที่ไม่เข้มงวดนัก และคุณก็จำเป็นต้องขายของ ถ้าไม่โพสต์ภาพโฆษณาเลยก็เป็นไปไม่ได้
สิ่งที่คุณทำได้คือ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน และทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่าในผลิตภัณฑ์ของคุณ หากคุณทำได้ ไม่ว่าจะมีของก็อป A ออกมากี่เจ้า ลูกค้าก็เลือกสินค้าคุณแน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นข้อพึงระวัง หากคิดจะทำการตลาดผ่านโลกโซเชียล แต่อ่านแล้วอย่ากลัวจนไม่กล้าลงเล่นในสื่อนี้นะครับ ทุกสื่อย่อมมีข้อดี และข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เราต้องรู้เท่าทัน และใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด