จดทะเบียนร้านอาหาร ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายคนที่กำลังจะเปิดร้านอาหาร นอกเหนือจากงานทำร้าน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การตกแต่ง งานระบบ งานครัว งานบริการ ฯลฯ และอีกสารพัดงานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ ห้าม! มองข้าม คือการ จดทะเบียนร้านอาหาร ให้เปิดขายได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารอย่างไรบ้าง วันนี้เราหาคำตอบมาให้แล้วครับ
การเปิดร้านอาหารต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 โดยวันนี้ขอยกรูปแบบการจดทะเบียนที่ใกล้ตัวผู้ประกอบการทุกท่านมา 2 ลักษณะ ดังนี้
1.ประเภทบุคคลธรรมดา (เจ้าของคนเดียว)
เอกสารที่ต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่มีดังนี้
- คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือทพ. สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.dbd.go.th/download/downloads/01_tp/form_tp.pdf
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกอบกิจการ
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบกิจการ กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเจ้าบ้านของสถานที่ตั้งร้าน ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม
- แผนที่แสดงสถานที่ตั้งร้าน และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ได้ยื่นเรื่องเอง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- ค่าทำเนียมการจดทะเบียน 50 บาท
2.ประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล กิจการร่วมค้า (มีเจ้าของร่วม)
เอกสารที่ต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่มีดังนี้
- คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือทพ. สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.dbd.go.th/download/downloads/01_tp/form_tp.pdf
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
- หนังสือหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
- หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้านหรือผู้ขอเลขที่บ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม
- แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่แลสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ได้ยื่นเรื่องเอง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- ค่าทำเนียมการจดทะเบียน 50 บาท
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว สามารถไปจดทะเบียนได้หลากหลายสถานที่ ดังนี้
กรณีร้านอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ :
(1) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
(2) ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น
กรณีต่างจังหวัด ยื่นจดทะเบียนได้ที่ : เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา รับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกอบกิจการ หลังจากจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ต้องปฏิบัติดังนี้
1.ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
2.ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาโดย เปิดเผยภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียน ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย
3.หากเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่น เลิกกิจการ ใบทะเบียนพาณิชน์สูญหาย ต้องยื่นคำขอใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง สูญหาย หรือชำรุด
4.ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
5.ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการเข้าทำการตรวจสอบสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ
ขอบคุณข้อมูลจาก: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th