มือใหม่ต้องรู้! จัดสต๊อกวัตถุดิบ ฉบับเข้าใจง่าย - Amarin Academy

มือใหม่ต้องรู้! จัดสต๊อกวัตถุดิบ ฉบับเข้าใจง่าย

มือใหม่ต้องรู้! จัดสต๊อกวัตถุดิบ ฉบับเข้าใจง่าย

มีเพื่อนๆ ผู้ประกอบการหลายคนทักมาถามเยอะมากว่า จะเริ่มต้น จัดสต๊อกวัตถุดิบ ยังไงให้ง่ายที่สุด มีของเหลือทิ้งน้อยที่สุด และที่สำคัญป้องกันขโมยได้ดีที่สุด

แต่ก่อนจะไปดูว่าทำยังไง เรามาทำความเข้าใจกับความสำคัญของการ จัดสต๊อกวัตถุดิบ กันก่อน

วัตถุดิบถือเป็นต้นทุนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่จะคิดเป็นประมาณ 30 – 35 % ขึ้นอยู่กับประเภทร้านอาหาร (ถ้าประเภท Fast food อาจจะถูกหน่อย แต่ Buffet อาจจะสูงกว่านี้)

ในเมื่อวัตถุดิบถือเป็นต้นทุนที่สูงขนาดนี้ เจ้าของร้านจะละเลยไม่ได้ เพราะทุกวัตถุดิบที่สูญเสียไป ถือเป็นต้นทุนที่คุณต้องจ่าย (บางร้านยังไม่ทันปรุง ก็ต้องทิ้งวัตถุดิบไปเกือบ 10 % แล้ว เพราะคุณภาพไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย ต้องตัดทิ้ง อย่าลืมว่าสิ่งที่คุณกำลังทิ้งลงถังขยะ คือเงินของคุณทั้งนั้น!)

ทั้งนี้ 3 สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนการจัดการสต๊อกคือ

1.จำนวนวัตถุดิบที่ “เข้ามา” ในร้าน (ทั้งที่ซื้อมาเอง และจากการที่ Supplier มาส่ง)
2.จำนวนวัตถุดิบที่ขายออก
3.จำนวนวัตถุดิบคงเหลือ

ถ้าคุณไม่รู้ตัวเลขทั้ง 3 ข้อนี้อย่างแน่ชัด คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า การจัดการวัตถุดิบของคุณมีประสิทธิภาพหรือเปล่า การใช้งานวัตถุดิบมีประสิทธิภาพไหม เกิดการขโมยหรือไม่

หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพ เราจะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ฟัง

สมมติว่าคุณเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ทุกวันจะต้องซื้อเนื้อหมูมาจากตลาด 5 กิโลกรัม (5000 กรัม)

โดยคุณกำหนดไว้ว่าก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ต้องใช้เนื้อหมู 50 กรัม เท่ากับว่าวันหนึ่งๆ คุณสามารถขายก๋วยเตี๋ยวได้ 5000 ÷ 50 = 100 ชาม

แต่ปรากฏว่าเมื่อไปเช็คจากยอดขาย พบว่าคุณขายก๋วยเตี๋ยวได้แค่ 80 ชามเท่านั้น แต่เนื้อหมูกลับหมดเกลี้ยง

แล้วเนื้อหมูอีก 1 กิโลกรัมที่เหลือหายไปไหน?

ถ้าคุณไม่เคยเช็คสต๊อกและยอดขาย จะไม่มีทางรู้เลยว่าวัตถุดิบของคุณหายหรือเปล่า

และนี่แค่วัตถุดิบชนิดเดียว ยังสูญหายไปมากขนาดนี้ แล้วร้านอาหารของคุณไม่ได้มีวัตถุดิบแค่เนื้อหมูอย่างแน่นอน ถ้าไม่ตรวจสอบให้ดี ลองคิดดูว่า ในเดือนๆ นึงเงินคุณจะหายไปมากแค่ไหน ?

ทั้งนี้ช่องทางการรั่วไหลของวัตถุดิบนั้นมีหลายช่องทาง ได้แก่

1.วัตถุดิบเน่าเสีย > วัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน จัดเก็บไม่ดี หมดอายุก่อนนำมาใช้
2.พนักงานปรุงผิดพลาด > หั่นผิด รับออร์เดอร์ผิด ไม่ชั่ง ตวง วัด วัตถุดิบ ใช้มากเกินไปและใช้น้อยเกินไป
3.ลูกค้าขอคืนอาหาร > รสชาติเพี้ยน ไม่ได้มาตรฐาน ปรุงไม่สุก เสิร์ฟผิดโต๊ะ (แต่ลูกค้ากินไปแล้ว ก็ต้องรับคืน)
4.อาหารพนักงาน > สวัสดิการให้พนักงานกินฟรี (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรทำ เพราะควบคุมยากมาก)
5.ขโมย > พนักงานขโมยวัตถุดิบกลับบ้าน

พอจะรู้ถึงความสำคัญของการจัดสต๊อกวัตถุดิบ รวมทั้งช่องทางที่ทำให้วัตถุดิบรั่วไหลแล้ว ต่อไปมาดูเทคนิคง่ายๆ ในการ จัดสต๊อกวัตถุดิบ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหา และอุดรอยรั่วเหล่านั้นกัน!

1.สร้างระบบการสั่งซื้อ – ใช้วัตถุดิบ

การซื้อวัตถุดิบของร้านอาหารมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ซื้อเองและสั่งจาก Supplier แต่ไม่ว่าจะซื้อรูปแบบใดสิ่งที่ควรทำคือ

1.1 ตรวจเช็คจำนวนวัตถุดิบทุกครั้ง โดยระบุหน่วยที่เหมือนกันทั้งหมด เช่น กิโลกรัม กรัม เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการคิดคำนวณ (เดี๋ยวจะบอกในขั้นต่อไปว่าต้องนำไปใช้อย่างไร)

1.2 เมื่อทราบจำนวนแล้ว ต้องระบุวันที่วัตถุดิบเข้ามาในร้าน รวมทั้งวันหมดอายุให้ชัดเจนด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าควรหยิบใช้วัตถุดิบใดก่อน โดยควรใช้หลัก FIFO หรือ First in First Out หรือ มาก่อนใช้ก่อน ป้องกันการเน่าเสีย

1.3 จัดเรียงวัตถุดิบให้ง่ายและสะดวกในการใช้ บางร้านใช้การติดแถบสี เพื่อให้รู้ว่าควรใช้วัตถุดิบชิ้นใดก่อน ชิ้นใดหลัง หรือบางร้านจัดเรียงให้วัตถุดิบที่มาใหม่อยู่ด้านซ้ายสุดของตู้เย็นเสมอ และกำหนดว่าพนักงานต้องหยิบใช้จากด้านขวาไล่ไปซ้าย (อ่านเพิ่มเติม FIFO วิธีจัดเก็บวัตถุดิบร้านอาหาร ช่วยลดต้นทุนได้จริง!)

ข้อควรรู้ : การสั่งวัตถุดิบจาก Supplier ก็สามารถช่วยลดการสูญเสียได้เช่นกัน เนื่องจากเราสามารถกำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบที่เราต้องการได้

เช่น เนื้อหมูปั้นก้อนที่นำมาสไลด์ ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง…เซนติเมตร เวลาเสิร์ฟจะได้มีขนาดเท่าๆ กัน

ผักต้องตัดแต่งเอาใบแก่ ใบเหี่ยวออก จะได้ไม่ต้องเสียเวลาตัดแต่งและตัวเลขการใช้งานวัตถุดิบจะได้ไม่คลาดเคลื่อน เพราะถ้าเราไม่กำหนดสเป็กของผัก เวลาคนตรวจรับของระบุในสต๊อกว่ารับผักมา 10 กิโลกรัม แต่เมื่อนำมาปรุงกลับต้องเอาใบเหี่ยว ใบแก่ออก จนเหลือที่ใช้ได้จริงเพียง 7 กิโลกรัม ซึ่งในชีวิตจริงเวลานำมาปรุง เชฟอาจจะไม่ได้ชั่งน้ำหนักให้เราว่าเด็ดใบแก่ทิ้งไปเท่าไร เอาใบเหี่ยวออกไปแค่ไหน ตัวเลขการใช้งานวัตถุดิบอาจจะคลาดเคลื่อนได้

2.กำหนดสูตรมาตรฐาน

ร้านอาหารส่วนใหญ่มักใช้วิธีกะปริมาณในการปรุง ซึ่งข้อนี้จะทำให้เราบริหารจัดการสต๊อกได้ยากมาก ทั้งยังทำให้รสชาติอาหารไม่คงที่อีกด้วย (ขึ้นกับรสมือเชฟ ถ้าเชฟลาออก ก็จบ!) ดังนั้นร้านอาหารต้องกำหนดสูตรมาตรฐานให้พนักงานชั่ง ตวง วัด วัตถุดิบทุกครั้งก่อนการใช้งาน (ที่บอกว่าต้องระบุหน่วยให้เหมือนกันตอนตรวจรับวัตถุดิบจะนำมาใช้ในขั้นนี้)

โดยสูตรมาตรฐานนี้ควรระบุหน่วยให้เหมือนกับตอนที่ตรวจรับวัตถุดิบ เพื่อง่ายต่อการคำนวณวัตถุดิบในสต๊อก (เครื่องปรุงบางชนิดไม่สามารถระบุเป็นกรัมได้ ให้แปลงจากช้อนโต๊ะหรือช้อนชา เป็นกรัมตอนคำนวณ)

เช่น เมนูสเต๊กหมู 1 จาน วัตถุดิบ ได้แก่ เนื้อหมูสันใน 200 กรัม พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ ซอสปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ มันฝรั่งทอด 50 กรัม ผักสลัด 20 กรัม

สมมติว่าวันนี้คุณขายสเต็กหมูทั้งหมด 20 จาน เท่ากับว่าวัตถุดิบที่ใช้ในวันนี้ต้องคูณ 20

เมื่อรู้ตัวเลขการใช้งานแล้ว นำไปหักลบกับวัตถุดิบตั้งต้น จะได้เป็นจำนวนวัตถุดิบที่ควรจะเหลือเมื่อสิ้นวัน

เช่น คุณซื้อเนื้อหมูสันในจากตลาดมา 5000 กรัม วันนี้ใช้ไป 4000 กรัม ฉะนั้นต้องเหลือเนื้อหมูในสต๊อกทั้งสิ้น 1000 กรัม ถ้าตัวเลขไม่ตรง ก็ต้องตรวจสอบว่ามาจากสาเหตุใด

ก็ย้อนกลับไปดูช่องทางรั่วไหลของวัตถุดิบในข้างต้น เช่น ถ้าเกิดจากการปรุงอาหารผิดพลาดซ้ำๆ ก็ต้องแก้ไขที่เชฟ ถ้าเกิดจากวัตถุดิบเน่าเสีย ก็ต้องแก้ที่การตรวจรับและใช้วัตถุดิบให้เป็นระบบ เป็นต้น

3.อย่ามัวเสียเวลาคำนวณตัวเลขทุกวัน เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเถอะ

อ่านมารู้สึกเหนื่อยกับตัวเลขเลยใช่ไหม ลองคิดดูว่านี่แค่เมนูเดียว และเราก็ยกตัวอย่างแค่วัตถุดิบชนิดเดียวด้วย ถ้าคุณต้องมานั่งคำนวณอย่างงี้ทุกวัน มีหวังไม่ได้ทำอะไรแล้ว ฉะนั้นต้องหาเครื่องทุ่นแรง

โดยสิ่งที่ตอบโจทย์คนทำร้านอาหารมากที่สุดคือระบบ POS

พูดไปหลายคนอาจจะเบื่อ เพราะเราแนะนำให้ใช้ระบบนี้มาหลายบทความแล้ว แต่เชื่อเถอะว่ามันมีประโยชน์จริงๆ เพราะมันจะเก็บข้อมูลทุกอย่างโดยละเอียด โดยที่คุณไม่ต้องมานั่งคำนวณยอดขายเอง หักลบนั่นนี่ให้ยุ่งยาก แถมยังช่วยเก็บสถิติได้ด้วยว่าร้านของคุณ เมนูไหนขายดี เมนูไหนขายได้น้อย วัตถุดิบชนิดไหนกำลังจะหมด ควรสั่งเพิ่มเท่าไร

(ระบบ POS ทำงานอย่างไร อ่านต่อได้ที่ POS คืออะไร สำคัญอย่างไรกับร้านอาหาร)

4.เช็คสต๊อกสม่ำเสมอ

หลายคนพอเห็นว่ามีระบบคอยช่วยทุ่นแรง ก็เลยชะล่าใจไม่ลงไปตรวจสต๊อกวัตถุดิบเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะระบบ บอกได้เพียงตัวเลขในอุดมคติเท่านั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะตรงกับจำนวนวัตถุดิบในสต๊อกจริงๆ หรือเปล่า รวมทั้งไม่สามารถบอกได้ว่าวัตถุดิบใดกำลังจะหมดอายุ ฉะนั้นคุณก็ต้องหมั่นตรวจสอบสต๊อกอย่างสม่ำเสมอด้วย

แค่อ่านก็อาจจะเหนื่อยกันแล้วใช่ไหม? การจัดการงานหน้าบ้านว่ายุ่งแล้ว งานหลังบ้านยิ่งวุ่นกว่า แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าคุณทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำ วางระบบให้ดีตั้งแต่ต้น เรื่องน่าปวดหัวและปัญหาต่างๆ ที่ต้องเจอจะน้อยลงไปเยอะเลย!

เรื่องแนะนำ

วัดความสำเร็จของร้านอาหาร……ที่ไม่ใช่แค่ยอดขาย

วิเคราะห์ตัวเลข ตัวเลขรายได้รวม ความสำเร็จของร้านอาหารไม่สามารถวัดได้ด้วยยอดขายปัจจุบันเสมอไป ร้านอาหารจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ตัวเลขรายได้จริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยนำรายได้ปีที่ผ่านมา และปีปัจจุบัน มาเปรียบเทียบ เพื่อให้สามารถคาดการณ์ถึงรายได้ในอนาคต การขยายสาขาใหม่แสดงถึงการสามารถทำรายได้ที่มากขึ้นก็จริง แต่รายได้นั้นมีอัตราการเติบโตที่เหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น   ตัวเลขยอดขายต่อบิล ร้านมีกลยุทธ์การขายที่สามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อบิลได้ สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายไม่ว่าจะด้วยเมนู หรือการจัดการส่งเสริมการขาย แสดงถึงความสำเร็จ และแนวโน้มของการสร้างรายได้ในอนาคต   ตัวเลขอัตราส่วนกำไรขั้นต้น  (Gross Profit Margin) การที่จะวัดว่าร้านอาหารประสบความสำเร็จ หรือมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งหรือไม่ ร้านจะต้องมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อหน่วยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงถึงความสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี ตัวเลขที่บอกอัตราส่วนกำไรขั้นต้น ต้องนำไปเปรียบเทียบกับกิจการคู่แข่ง หรือตัวเลขเฉลี่ยจากร้านอาหารในตลาดเดียวกัน    ระบบร้านอาหารที่ดี ระบบร้านอาหารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การจัดการด้านครัวและวัตถุดิบ พนักงาน  โดยมีตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพเกิดข้อผิดพลาดด้านการจัดการน้อย แสดงถึงความสามารถในการควบคุมการจัดการร้านอาหารได้เป็นอย่างดี มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการทำร้านอาหาร โดยเฉพาะในสภาพการแข่งขันปัจจุบัน หากร้านอาหารของคุณขายดีมาก ๆ แต่ไม่มีระบบจัดการร้านอาหารที่ดี ต้องแก้ปัญหารายวัน ย่อมส่งผลต่อตัวเลขรายได้   Brand Royalty ของลูกค้า             เนื่องจากลูกค้าร้านอาหารมีตัวเลือกเยอะ และหลากหลาย ทำให้เป็นธุรกิจที่ลูกค้ามี […]

วิธีรับมือลูกค้า ที่มีปัญหา รับมืออย่างไรให้เจ๋ง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

เชื่อไหมว่า….เจ้าของร้านอาหารหลายร้านไม่รู้ว่าจะมี วิธีรับมือลูกค้า ที่มีปัญหาอย่างไร ? หรือบางรายก็คิดว่าการรับมือลูกค้าเป็นเรื่องของศิลปะและประสบการณ์ ถ้าเกิดก็ปรับไปตามหน้างานก็พอ ซึ่งร้านอาหารจำนวนไม่น้อย ไม่มีการกำหนดขั้นตอนการรับมือลูกค้า และไม่เคยฝึกพนักงานให้รับมือ สุดท้าย…มีร้านอาหารที่ต้องเจ๊ง เพราะรับมือกับลูกค้าไม่เป็น Customer Complain Handling เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานการบริการ SOP  เพื่อให้ทีมงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งผลเสียกับร้านน้อยที่สุด  มาดูกันว่ามีแนวทางอะไรบ้าง ที่ควรรู้ก่อนนำไปกำหนดรูปแบบของร้านคุณเอง Customer Complain Handling วิธีรับมือลูกค้า ที่ควรรู้! กำหนดความร้ายแรงให้กับกรณี วิธีรับมือลูกค้า เมื่อเกิดปัญหาโดยทั่วไปนั้น มีลำดับขั้นตอนที่ไม่แตกต่างกันนัก ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น  และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยทันที แต่สิ่งที่ทำให้การรับมือกับปัญหาต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้กว่านั้น คือ การกำหนดระดับความรุนแรงของปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดหน้าร้านเข้าไปด้วย เพราะจะช่วยให้ทีมงานร้านอาหารสามารถจัดการกับปัญหาตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม เพราะในแต่ละช่วงเวลาร้านอาจจะยุ่ง มีลูกค้ารายอื่น ๆ ที่ต้องบริการ รวมถึงระดับความไม่พอใจของลูกค้านั้นกระทบกับบรรยากาศของร้าน หรือการบริการกับลูกค้าอื่น ๆ ต่างกัน การกำหนดระดับความรุนแรงจากมากไปน้อย เป็นเหมือนเครื่องมือในการสื่อสารกับทีมงานในส่วนต่าง ๆ ของร้านว่ากำลังใช้แผนการใดในการรับมือ เช่น ต้องเร่งรีบแค่ไหน ต้องการตัวช่วยระดับผู้จัดการหรือไม่ […]

ทำอาหารไม่เป็น

ทำอาหารไม่เป็น เปิดร้านอาหารได้ไหม ?

จากการที่เราสังเกตและวิเคราะห์พบว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้มีคุณสมบัติเหมือนกันบางอย่าง ที่ทำให้เขาเปิดร้านอาหารได้ ทั้งๆ ที่ ทำอาหารไม่เป็น เราจะมาสรุปให้ฟัง

ตำแหน่งพนักงานร้านอาหาร

ตำแหน่งพนักงานร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านมืออาชีพต้องรู้!

ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอร่อยหรือการตกแต่งร้านเท่านั้น แต่ต้องอาศัย “ทีมงาน” ที่ดีมีคุณภาพ ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เจ้าของร้านบางท่านอาจจะคิดว่าให้ทีมแบ่งงานกันทำง่ายๆ ใครว่างก็ไปช่วยคนอื่นทำต่อ แต่ถ้าจะบริหารร้านให้เป็นระบบอย่างมืออาชีพแล้ว ควรจะแบ่งงานกันอย่างไร มาศึกษาการแบ่ง  ตำแหน่งพนักงานร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านมืออาชีพต้องรู้! ตำแหน่งพนักงานร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านมืออาชีพต้องรู้! ร้านอาหารแต่ละชนิดก็จะต้องการพนักงานที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป โดยเราสามารถแบ่งประเภทพนักงานออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ พนักงานหลังร้าน และพนักงานหน้าร้าน  พนักงานหลังร้าน ความสามารถที่จำเป็นของพนักงานหลังร้านหรือในครัวนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านอาหาร และความซับซ้อนของเมนูในร้าน เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด พนักงานไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในครัวมากนัก ก็สามารถประกอบอาหารได้ตามมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น คงต้องการเชฟที่มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ ความสามารถในการใช้มีด การแล่ปลา การปั้นซูซิและทำอาหารญี่ปุ่นอื่นๆ  ยิ่งเป็นร้านที่พัฒนามากขึ้น ตำแหน่งก็จะยิ่งละเอียด เพื่อความชัดเจนในหน้าที่ ลดความซ้ำซ้อนของงาน และมีโครงสร้างเหมือนกับบริษัทย่อยๆ ที่พนักงานต้องเรียนรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยตำแหน่งในครัวแบ่งย่อยได้เป็น  หัวหน้าเชฟ เป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดเบื้องหลังร้าน แค่ต้องทำอาหารได้ดียังไม่พอ แต่ต้องสามารถบริการจัดการครัวได้ด้วย ทั้งเรื่องการกระจายงานให้พนักงานในครัว ดูแลการจัดการวัตถุดิบ คำนวนต้นทุนอาหาร วางแผนและพัฒนาเมนูในร้าน   ผู้ช่วยเชฟ  มีหน้าที่ช่วยจัดการงานต่างๆ ของหัวหน้าเชฟ และดูแลครัวในกรณีที่หัวหน้าเชฟไม่อยู่ […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด
ในเครือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.