20 เทรนด์ ธุรกิจอาหาร ปี 2020
ที่ผู้ประกอบการควรรู้!
1.ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้น
เมื่อโลกก้าวไกลเรื่องเทคโนโลยีขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของร้านแบรนด์ใหม่ๆ จะเริ่มลงทุนกับการใช้ระบบเทคโนโลยีมากขึ้น และอาจลดแรงงานคนลง ร้านจะให้ลูกค้าบริการตัวเองมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนร้านดั้งเดิมเก่าแก่ ก็จะหันมาใช้ระบบการจัดการใหม่ๆมากขึ้น โดยทายาทรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารร้านเพื่อควบคุมต้นทุนให้มากที่สุด
2. Social Marketing สำคัญมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ ถ้าอยากให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น การทำการตลาดบนโลกออนไลน์สำคัญมาก อะไรที่เป็นกระแสใน Social จะส่งผลกระทบรวดเร็ว ทำให้คนอยากลองและตามไปรีวิวมากมาย แต่ที่สำคัญร้านของคุณก็ต้องมีคุณภาพด้วย เพราะอย่าลืมว่าถ้าร้านไม่ดีจริง กระแสมาไวก็ไปไวได้เช่นกัน
3. เดลิเวอรี่ แข่งขันสูง
ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้เดลิเวอรี่จึงมาแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนมาถึงปีนี้ และเกิดการแข่งขันกันที่สูงขึ้น ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้านก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะงัดกลยุทธ์ไหนออกมาเพื่อดึงดูดลูกค้าได้มากกว่ากัน
4. มากกว่าการกิน คือการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า
แม้ว่าเรื่องรสชาติจะสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจอาหาร แต่ปัจจุบันการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการทานให้กับลูกค้า เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความตื่นตาตื่นใจปละประทับใจไม่น้อย เช่น การให้ลูกค้ามีส่วนร่วม หรือแม้แต่การกินอาหารพร้อมโชว์เทคโนโลยี AR
5. อาหารหรูในราคาที่เอื้อมถึง
ในปีนี้เชื่อว่าผู้บริโภคจะต้องได้เข้าถึงอาหารคุณภาพดี แต่ราคาย่อมเยาว์มากขึ้น เช่น โอมากาเสะบางร้าน ที่จะมีในราคาที่ถูกลงเท่าตัว เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นได้รับประสบการณ์แบบนี้บ้าง
6. การกินแบบวิถี Locavore
Locavore คือกลุ่มคนที่มีวิถีการกินแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นการสนันสนุนอาหาร หรือวัตถุดิบที่มาท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในชุมชนนั้นๆ เช่นผลิตภัณฑ์การโครงการหลวง หรือจากชุมชนพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะมีผู้บริโภคที่เลือกกินแบบนี้เพิ่มขึ้น
7. อาหารสุขภาพยังคงอยู่
ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีผู้บริโภคที่หันมาสนใจอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจอาหารสุขภาพเกิดขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงแค่กระแสชั่วคราว แต่ในปีนี้นั้นเทรนด์รักสุขภาพก็ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แบรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็มักคำนึงถึงเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกวัตถุดิบ หรือกระบวนการผลิต
8. Plant-based meat ต้องมา
จากความตื่นตัวในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งการ Plant-based meat หรือเนื้อที่ไม่ได้ทำจากเนื้อนั้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งในต่างประเทศมีแบรนด์ใหญ่ที่เริ่มทำแล้ว ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีแบรนด์ที่เริ่มทำแล้วเช่นกัน เช่น Sizzler
9. เทรนด์ Flexitarian
เทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากในอเมริกา โดยหลักแล้วเป็นการทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ ทานมังสวิรัติเป็นหลัก เน้นทานอาหารจำพวกผักเป็นส่วนใหญ่ โดยที่สามารถทานเนื้อสัตว์ได้บ้าง เป็นกลุ่มคนที่หันมากินมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ
10. อาหารจากแมลง
แมลงมีคุณค่าทางโปรตีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไปอยู่ถึง 2 เท่า ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความสนใจในเมนูอาหารที่ทำจากแมลง
เราจะเห็นเมนูอาหารหรือสินค้าที่ถูกแปรรูปมาจากแมลงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูในร้านอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต
11. Zero-waste แพ็คเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การที่ร้านจะเปลี่ยนมาใช้แพ็คเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น อาจทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น และตามมาด้วยราคาสินค้าที่อาจสูงตาม แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ร้านเกิด Food waste น้อยลงในระยะยาว แพ็คเกจจิ้งนำมาใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
12. สะดวก สดใหม่ และดีต่อสุขภาพ
อย่างที่รู้กันว่ายุคนี้ ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ตอบโจทย์ได้ดีคือ อาหารเพื่อสุขภาพแบบพร้อมทานจะมีมากขึ้น ต้องสะดวก เร็ว และดีต่อสุขภาพด้วย
13. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
การที่สามารถครองใจกลุ่มผู้สูงอายุได้สำเร็จ จะทำให้ได้ฐานลูกค้าที่ซื้อซ้ำสูงขึ้นมาก ดังนั้นควรออกแบบสินค้าและเมนูต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุด้วย เช่น สินค้ามีน้ำหนักเบา มีฉลากคำอธิบายตัวใหญ่ หรือ ทำโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุ
14. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำเกือบ 0%
ทิศทางการดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ทั่วโลกโดยเฉพาะในโซนยุโรป เพราะกลุ่มคน Millenial ให้ความสนใจในเรื่อง
ของการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จึงทำให้ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่ทำ เครื่องดื่มทางเลือกประเภท Mocktail หรือ Functional drink
15. ทางเลือกอาหารเด็ก
เนื่องจากมีสถิติบอกว่าภายในปี 2030 เด็กทั่วโลกกว่า 250 ล้านคนจะเป็นโรคอ้วน หากยังบริโภคขนมหรืออาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวในการผลิตขนม หรืออาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง หรือไม่มีประโยชน์ให้น้อยลง
16. จัดส่งชุดวัตถุดิบ ส่งตรงถึงบ้าน
ร้านที่มีบริการกดสั่งวัตถุดิบที่ต้องการ แล้วจัดส่งให้ถึงบ้าน เพื่อความสะดวกของลูกค้า ซึ่งธุรกิจนี้น่าจะเหมาะกับการเจาะกลุ่มเฉพาะ เช่น คนที่กินอาหารคลีนทำเองที่บ้าน เป็นต้น
17. ยุคของการ Collaboration
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา มีหลายแบรนด์ที่จับมือร่วมกันในการผลิตสินค้าใหม่ๆ เป็นการที่นำจุดเด่นของแต่ละแบรนด์มาทำร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนฐานลูกค้ากัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด
18. ร้านที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม
ร้านที่เปิดเพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มีคอนเซ็ปต์ร้านที่ชัดเจน เช่น ถ้าร้านนั้นอยากเน้นเรื่องของชาเขียวเป็นหลัก อยากให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์การดื่มชาเขียวแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ก็จะคัดสรรชาเขียวที่ดี หรือตกแต่งบรรยากาศร้านให้มีความเป็นญี่ปุ่นให้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มเฉพาะคนที่รักการดื่มชาเขียว หรือ ชอบทานอาหารที่ทำจากชาเขียว ก็จะมีความอินมากกว่า
19. Coffee Stand
ปีที่ผ่านมาร้านกาแฟยังคงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งในปีนี้การเปิดร้านกาแฟ จะเป็นในลักษณะทำเป็น Slow Bar ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเปิดร้านใหญ่โต หรือเป็นการใช้พื้นที่ร่วมกับร้านอื่นที่สามารถส่งเสริมการขายร่วมกันได้
20. การจ่ายเงินไร้เงินสดและการเข้ามาของ Vending machine
แนวโน้มการใช้เงินสดจ่ายจะมีทิศทางที่ลดลง แต่จะมีทางเลือกในการจ่ายเงินในแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น
เพื่อให้คนที่มาใช้บริการร้านได้รับความสะดวกสบายขึ้น และควรมีระบบการจ่ายเงินสำหรับชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีน จะมีระบบจ่าย Alipay
สำหรับ Vending machine ก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าจากในปีที่แล้ว รวมถึงอาจจะมีความหลากหลายของสินค้าในตู้เพิ่มมากขึ้นด้วยในปีนี้
20 เทรนด์ ธุรกิจอาหาร ที่เราได้นำเสนอไปนั้น เป็นเพียงแนวโน้มที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหล่าผู้ประกอบการเองว่าจะสามารถนำจุดไหน ไปปรับใช้กับ ธุรกิจอาหาร ของตัวเองได้บ้าง เพราะการจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไม่ใช่เพียงแค่ทำตามเทรนด์เท่านั้น
ขอบคุณข้อมูล hungrybiz