ก่อนหน้านี้เรามักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆว่า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่เปิดเพลงต่างๆ ภายในร้านของตัวเอง ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลง หรือแม้แต่ข่าวตัวศิลปินเอง ที่นำเพลงมาร้องก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน ต้องบอกเลยว่าในยุคปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีรายละเอียดมาก ซึ่งเจ้าของร้านบางราย หรือตัวศิลปินที่นำเพลงมาร้องตามร้านนั้น อาจจะยังไม่เข้าใจถึงข้อกฎหมายในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ชัดเจนมากพอ วันนี้ Amarin Academy จะมาอธิบายให้ทราบว่า จะมีวิธี เปิดเพลงในร้านอาหาร อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย และหากถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลง ต้องทำอย่างไร มาดูกันค่ะ
5 วิธี เปิดเพลงในร้านอาหาร ไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์
- ตรวจสอบรายชื่อเพลงที่จะใช้เปิด ว่ามีบริษัทใดจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์บ้าง ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
- เลือกใช้เพลงที่ศิลปินหรือค่ายเพลง ประกาศอนุญาตให้ใช้ได้โดยไม่เสียค่าลิขสิทธิ์
- จำกัดการใช้งานเพลงเพื่อลดต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ และลดปัญหาการถูกดำเนินคดี
- ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรายชื่อเพลงที่แจ้งจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง
- หากเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง และต้องการจ่ายค่ายอมความจะต้องกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และระบุรายชื่อเพลง และจำนวนเงินที่ยอมความในบันทึกยอมความไว้เป็นหลักฐานเสมอ
สำหรับทั้ง 5 คำแนะนำข้างต้น เจ้าของร้านที่จะ เปิดเพลงในร้านอาหาร ควรจะต้องรีบตรวจสอบเลยค่ะ ว่างานเพลงที่ใช้เปิดอยู่นั้นมีเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ และดำเนินการเจรจาค่าลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวเจ้าร้านเองก็จะได้สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีค่ะ
แต่ถ้าหากพูดถึงอีกหนึ่งกรณี สำหรับบางร้านที่ไม่ได้มีการตรวจสอบตามขั้นตอนที่กล่าวมา แล้วถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงขึ้นมานั้น จะต้องทำอย่างไรต่อ ดูตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ
ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ต้องทำอย่างไร?
- ตรวจสอบหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ก่อนดำเนินคดี มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีอำนาจในการจับกุมดำเนินคดี
- ตรวจสอบหลักฐานการแสดงความเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น หลักฐานการเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้รับโอนสิทธิ์ หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์โดยวิธีอื่น
- ตรวจสอบหลักฐานการมอบอำนาจ ให้ตัวแทนมาดำเนินคดี เช่น หนังสือมอบอำนาจหมดอายุหรือไม่ การมอบอำนาจนั้นสามารถมอบอำนาจช่วงได้หรือไม่ การมอบอำนาจช่วงต้องกระทำโดยไม่ขาดสายถึงผู้มอบอำนาจคนแรก และมีอำนาจในการร้องทุกข์ ถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความหรือไม่เป็นต้น
- การดำเนินคดี จะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วย และผู้ประกอบการอาจขอดูบัตรประจำตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุม
- การตรวจค้นในที่รโหฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายศาลมาแสดง ก่อนที่จะทำการตรวจค้น
- คดีละเมิดลิขสิทธิ์เพลง สามารถยอมความ (ตกลงค่าเสียหาย) เพื่อยุติคดีด้วยการถอนคำร้องทุกข์ หรือถอนฟ้อง หากต้องการยอมความ ควรทำต่อหน้าพนักงานสอบสวนเท่านั้น และลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ายอมความในลิขสิทธิ์เพลงอะไร จำนวนเงินเท่าใด
ตรวจสอบลิขสิทธิ์เพลงก่อนใช้
1.เข้าไปที่เว็บไซต์
1.1 ตรวจสอบรายชื่อบริษัท
1.2 ตรวจสอบรายชื่อเพลง ของแต่ละบริษัทจัดเก็บ
2. ตรวจสอบว่าเพลงที่ต้องการใช้ มีการจัดเก็บในลิขสิทธิ์ประเภทใด
2.1 ดนตรีกรรม (งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และหมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว)
2.2 สิ่งบันทึกเสียง (สิ่งที่ประกอบขึ้นจากเสียงที่ได้บันทึกลงในสื่อเช่น คอมแพคท์ดิสก์, คาสเสทท์, เทป หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถบันทึกเสียงได้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือต้องเป็นเสียงที่อยู่บนซีดี (ไม่ใช่ตัวแผ่นซีดี) จึงจะถือว่าเป็นสิ่งบันทึกเสียงได้)
3. การจ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัทจัดเก็บ
3.1 เพลง รักเอย
ดนตรีกรรม + งานสิ่งบันทึกเสียง
บริษัท ก. อ้างสิทธิจัดเก็บ เท่ากับว่า จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัท ก. รายเดียว
3.2 เพลง รักเอย
ดนตรีกรรม = บริษัทจัดเก็บ ก. อ้างสิทธิจัดเก็บ
สิ่งบันทึกเสียง = บริษัทจัดเก็บ ข. อ้างสิทธิจัดเก็บ
เท่ากับว่า จ่ายค่าลิขสิทธิ์ทั้งบริษัท ก. และ บริษัท ข.
3.3 เพลง รักเอย
ดนตรีกรรม = บริษัทจัดเก็บ ก. อ้างสิทธิจัดเก็บ
สิ่งบันทึกเสียง = บริษัทจัดเก็บ ข. อ้างสิทธิจัดเก็บ
ดนตรีกรรม = บริษัทจัดเก็บ ค. อ้างสิทธิจัดเก็บ
เท่ากับว่ามีการอ้างสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมมากกว่าหนึ่งรายการ หลีกเลี่ยงการใช้งานเพลงนี้ เพราะแม้ว่าจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัท ก. และบริษัท ข. แล้ว บริษัท ค. อาจอ้างสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม เพื่อเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือดำเนินคดีได้ ดังนั้น กรณีนี้ถือว่าเป็นเพลงที่มีปัญหาความซ้ำซ้อนในการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ค่อนข้างมาก ควรหลีกเลี่ยงในการนำมา
จะเห็นได้ว่าเรื่องของลิขสิทธิ์งานเพลงนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งเลยค่ะ เพราะทุกชิ้นงานมีเจ้าของและหากไม่รอบคอบในส่วนนี้ ก็อาจจะต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และเสียชื่อเสียงเพราะต้องถูกดำเนินคดีด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะ เปิดเพลงในร้านอาหาร เจ้าของร้านอาหารควรศึกษาและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายค่ะ
ขอบคุณข้อมูล : กรมทรัพย์สินทางปัญญา
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
เปิดร้านของตัวเอง VS ซื้อแฟรนไชส์ แบบไหนดีกว่ากัน?
How to 10 เทคนิค ถ่ายภาพอาหารให้น่ากิน
วิธีเก็บผัก เก็บอย่างไรให้ถูกต้อง และเก็บได้นาน
วิธี คำนวณต้นทุนร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้! by คุณ ธามม์ ประวัติตรี
อย่าปล่อยให้ ระบบงานครัว ทำร้านเจ๊ง ถึงเวลาเจ้าของร้านต้องวางแผน
วิธีรับมือลูกค้า ที่มีปัญหา รับมืออย่างไรให้เจ๋ง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้