5 เทรนด์โลก กับเรื่องที่ผู้ประกอบการ (ธุรกิจผลิตอาหาร) ต้องปรับตัวให้ทัน
เรื่องของอาหารการกินเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ถึงขนาดมีคำพูดติดปากที่ว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่าเทรนด์การบริโภคหลักของโลกกำลังจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหาร ก็มีเรื่องที่ปรับตัวในทัน ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไป โดย เทรนด์โลก เด่นๆ ที่น่าสนใจมีอยู่ 5 ข้อ ดังนี้
1.ต้องการของใหม่
ลองสังเกตบนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อดู เราจะพบกับผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์หน้าตาสวยงาม วางเรียงรายอยู่มากมาย และถึงจะเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว แต่แบรนด์เหล่านั้นก็ยังพยายามปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เพิ่มรสชาติที่หลากหลายออกมาเอาใจผู้บริโภค เรื่องเหล่านี้คงเป็นคำตอบให้กับผู้ประกอบการทุกคนได้ว่า ผู้บริโภคยังคงต้องการสินค้าใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดจึงต้องมีการปรับตัว สร้างเอกลักษณ์สินค้าของตนเองให้แตกต่างจากคนอื่น
สิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้สินค้าของคุณแตกต่างจากคู่แข่งได้ก็คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตอาหารมาใช้ในการปรับปรุงสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถสร้างความจดจำและมีเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนกับใคร วัตถุดิบเป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่าภายในตัวเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหามุมต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของคุณได้อย่างไร ตัวอย่างสินค้าที่นำนวัตกรรมมาใช้และสามารถขายได้ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การแปรรูปผักและผลไม้ด้วยเทคนิค Freeze – Dried หรือเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ
2.กินให้เป็นยา
เทรนด์รักสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภค จนถึงขั้นเกิดกระแสการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง มีกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติ (Vegan) เพิ่มมากขึ้น โดยหันไปพึ่งพาโปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์
นอกจากอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว หลายคนยังเลือกกินอาหารเพื่อป้องกันและรักษาโรค หรือ “กินอาหารให้เป็นยา” โดยคำนึงถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริโภค หากเลือกกินได้ถูกกับอาการของโรค ก็จะได้สุขภาพที่ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาแต่ “ยาเม็ด” เพียงอย่างเดียว
3.ปรุงแต่งน้อย
“ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม” คือ สโลแกนของอาหารผ่านกระบวนการปรุงแต่งแต่น้อย โดยในการเลือกซื้อขนมสักห่อหนึ่งผู้บริโภคอาจเลือกหยิบขนมที่ใช้กรรมวิธีการอบแทนการทอด เพราะคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับ ความน้อยในกระบวนการปรุงนี้เอง ทำให้เกิดศัพท์ที่เรียกว่า อาหาร “คลีน” ขึ้นมา ส่วนความกลัวว่าจะขาดสารอาหารบางชนิด ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกบอของสารสกัดจากพืชและสัตว์ทะเล จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
4.สนใจรายละเอียด
ด้วยความต้องการเลือกที่มากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการควรใส่ใจบอกข้อมูลทุกอย่างของผลิตภัณฑ์บนฉลากของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบ ตารางโภชนาการ วิธีการใช้หรือวิธีการบริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงทุกรายละเอียด และรู้สึกวางใจในตัวสินค้า ว่ามีความน่าเชื่อถือและไว้ใจได้
5.ชื่นชมเรื่องเล่า (Storytelling)
การเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ในทางหนึ่ง พื้นที่ส่วนหนึ่งบนบรรจุภัณฑ์สามารถเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความพิเศษของสินค้าคุณได้เป็นอย่างดี ลองชูประเด็นเด่นขึ้นมาสักเรื่อง เช่น ความพรีเมี่ยมของวัตถุดิบ ต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ How to วิธีการกินในรูปแบบต่างๆ ก็ทำให้สินค้าของคุณดูน่าสนใจและแตกต่างขึ้นมาได้