“อาหารเพื่อสุขภาพ” เทรนด์มาแรงสายคลีน โอกาสทองของคนอยากมีธุรกิจ

“อาหารเพื่อสุขภาพ” เทรนด์มาแรงสายคลีน โอกาสทองของคนอยากมีธุรกิจ

หนึ่งในปัจจัยภายในที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดีได้นั้น คงหนีไม่พ้น “อาหาร” นาทีนี้เรื่องของ “อาหารเพื่อสุขภาพ” หรือ อาหารคลีนฟู้ด กำลังได้รับความนิยม อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์มาแรงของคนยุคใหม่ ที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ตลาดธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพขยายตามไปด้วยเช่นกัน สำหรับคนที่สนใจอยากเปิดร้านอาหาร การลงทุนกับอาหารเพื่อสุขภาพเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจและเริ่มต้นได้ไม่ยาก วันนี้เราจึงขอนำเสนอแนวทางที่จะช่วยให้ทุกคนตีโจทย์ลักษณะของธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพมาเป็นแนวทางในการนำไปเริ่มธุรกิจกัน

1.จุดยืนของอาหารเพื่อสุขภาพ

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเป็นธุรกิจที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า อาหารของเราทำมาจากวัตถุดิบที่สดใหม่และได้คุณภาพ ปรุงรสและผ่านกรรมวิธีที่ไม่ได้ลดคุณค่าทางอาหารจนเกินไป หากสนใจลงทุนกับธุรกิจด้านนี้แล้ว เจ้าของธุรกิจอย่างเราก็ควรศึกษาหาความรู้เรื่องโภชนาการและคุณค่าทางอาหารต่างๆ ด้วยเช่นกัน

เพราะเมื่อเอ่ยถึงอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ผู้บริโภคล้วนมองหาสิ่งดีๆ ที่จะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีมาจากภายใน  เรื่องของคุณภาพวัตถุดิบที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี กรรมวิธีการปรุงอาหารที่ไม่มากเกินไปจนทำให้เสียคุณค่าทางอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มคนรักสุขภาพมองเป็นหลัก ส่วนใหญ่มักจะมองหาอาหารที่ช่วยควบคุมแคลอรี่และน้ำหนัก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีรสชาติที่ดี  มีเมนูให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่จำเจหรือน่าเบื่อจนเกินไป จะเป็นเมนูอาหารเช้า ขนมทานเล่น ของหวาน หรือเมนูหลักก็สามารถสร้างสรรค์ให้หลากหลายได้

หลักในการปรุงส่วนใหญ่นั้น  ร้านควรเน้นวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ ไม่มีวัตถุดิบพวกหมักดอง หรือ ขัดขาว เช่นน้ำตาลทรายขาว ข้าวขาว อาหารควรไร้ไขมัน มีน้ำมันประกอบอาหารได้ในจำนวนน้อยและใช้น้ำมันพืชที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน และปรุงรสให้กลมกล่อมแบบกลางๆมากกว่าการเน้นรสจัด ที่สำคัญควรต้องครบห้าหมู่

2.กลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

แม้จะดูเหมือนว่าอาหารเพื่อสุขภาพเป็นธุรกิจที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่แท้จริงแล้วกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกระจายอยู่ในหลายอาชีพและช่วงอายุ ทั้งกลุ่มนักศึกษาที่อยู่หอพักหรือคอนโด ซึ่งไม่ได้มีพื้นที่ในการทำอาหารมากนัก, กลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีเวลาดูแลตัวเองเท่าที่ควร หรือกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งต้องเริ่มใส่ใจกับอาหารการกินมากขึ้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่กลุ่มคนรักสุขภาพที่เข้าฟิตเนส หรือคนที่พยายามควบคุมแคลอรี่อาหารเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลตลาดกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมีเป้าหมายหลักร่วมกันคืออยากมีสุขภาพที่ดี

ก่อนเข้าไปลุยในธุรกิจนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งความต้องการอาจหลากหลาย เช่น ต้องการสุขภาพ ต้องการลดน้ำหนัก เพราะขึ้นชื่อว่าอาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการก็หนีไม่พ้นเรื่องการมีสุขภาพที่ดี ที่มาจากการกินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไขมันต่ำ ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่มากเกินไปจนสูญเสียคุณค่าทางอาหาร ซึ่งความต้องการของลูกค้าถือเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจนี้

ในช่วงแรกๆ เราอาจเปิดร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพแบบเล็กๆ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่พักอาศัยใกล้ๆที่เราอาศัยอยู่ หรืออยู่ในเขตชุมชนที่มีออฟฟิศมากๆ ก็ยิ่งดี จากกลุ่มลูกค้าเหล่านี้อาจต่อยอดขยายธุรกิจออกไป เช่น รับทำข้าวกล่อง อาหารว่าง ให้กับหน่วยงานต่างๆ หรือเมื่อมีงานเลี้ยงเล็กๆ งานพิธีต่างๆ เป็นต้น

บางคนเลือกที่จะลงทุนทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเป็นแบบเดลิเวอรี่ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนบางครั้งไม่มีเวลาได้ดูแลตัวเอง หรือแม้แต่เวลาจะเข้าครัวไปทำอาหาร การได้ทานอาหารดีๆ จึงเป็นวิธีที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงได้อยู่เสมอ

 

3.การตลาดช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

ทุกวันนี้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน หลายคนเริ่มหันมาสนใจธุรกิจด้านนี้มากขึ้น การสร้างจุดเด่นให้ร้านของอาหารของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม บางร้านเลือกหยิบเรื่องราวจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจมาเป็นจุดขาย บางร้านมีแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเอง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด หรือบางร้านได้รับเมนูเด็ดตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภคได้ไม่ยาก

แต่ถ้าใครมีทุนน้อยและยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง อาจขายอาหารเพื่อสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ หรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น  Facebook, Instagram, LINE  เป็นต้น เพราะไม่มีต้นทุนด้านสถานที่ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่าย รวมถึงจัดการเรื่องการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ได้สะดวกรวดเร็ว

ปัจจุบันนี้สื่อในโลกออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักที่หลายคนเลือกใช้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการทำการตลาดออฟไลน์จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ในระยะแรกเริ่ม เราอาจต้องพึ่งพาช่องทางนี้ เช่น การทำใบปลิวเมนูของร้านเพื่อโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดเล็ก เช่น คนในหมู่บ้านเดียวกันหรือกลุ่มคนที่ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงได้ง่าย

แต่ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจขายอาหารเพื่อสุขภาพแบบเปิดเป็นร้านอาหาร หรือขายออนไลน์ สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือการรักษาคุณภาพของวัตถุดิบและรสชาติของอาหารให้คงที่ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าติดใจและกลับมาซื้ออาหารของเราอีกเรื่อยๆ

4.คุณภาพ ปริมาณ และราคา

เมื่อเราตีโจทย์สามตัวแปรข้างต้นได้ว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะอุดหนุนร้านของเราต่อไปหรือไม่ โดยทั้งสามตัวแปรนี้ควรไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อมีคุณภาพที่ดีแล้ว ปริมาณของอาหารก็ควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากไปจนเกินแคลอรี่ และไม่น้อยเกินไปจนเหมือนเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่ราคาควรอยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป จนทำให้ลูกค้าหนีหาย หรือถูกเกินไปจนเจ้าของร้านอาหารเป็นฝ่ายขาดทุนเสียเอง โดยอย่าลืมสำรวจตลาดและคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันการตั้งราคาอาหารเพื่อสุขภาพนั้น ควรตั้งราคาให้เหมาะกับวัตถุดิบที่เรานำมาทำ อาจเทียบจากราคาอาหารจานเดียวทั่วไป ที่มีราคา 35-40 บาท ดังนั้นอาหารเพื่อสุขภาพควรเริ่มต้นที่ราคา 55-80 บาท/กล่อง นอกจากนี้การบรรจุกล่องให้น่ารับประทานก็ช่วยเพิ่มราคาขายต่อกล่องได้ เราต้องคำนวณต้นทุนว่าหนึ่งกล่องใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ ต้นทุนกี่บาท ในกรณีที่ต้องจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าควรบวกค่าจัดส่งไปด้วย อาจเพิ่มความสะดวกด้วยการใช้บริการจากแอปพลิเคชันส่งสินค้า และอย่าลืมบวกค่าแรงในการทำเข้าไปด้วย ควรตั้งให้เหมาะสมกับคุณภาพและปริมาณอาหาร

5.สร้างความน่าเชื่อถือด้วยคุณค่าทางอาหาร

สำหรับคนที่สนใจทำธุรกิจเป็นแบบเดลิเวอรี่ อาจติดบอกคุณค่าทางโภชนาการและวัตถุดิบของแต่ละเมนูไว้ที่ข้างกล่อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคเชื่อว่าอาหารเหล่านี้ล้วนผ่านการคำนวณแคลอรี่และคุณค่ามาแล้ว คนที่เลือกเปิดเป็นร้านอาหารอาจทำการ์ดหรือแผ่นรองจานอาหารเป็นสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารไปได้ด้วย เช่น กระดาษรองจานของ MK สุกี้ซึ่งมักจะให้ข้อมูลความรู้อยู่เสมอ รวมไปถึงการคำนวณแคลอรี่ของมื้อที่เราเพิ่งทานไป เป็นต้น

สำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพนั้น  ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่ก็มีรายละเอียดให้เจ้าของร้านศึกษาหาความรู้อยู่ไม่ใช่น้อย อีกทั้งต้องวางแผน ศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี การฝึกฝีมือทั้งเรื่องการปรุงอาหาร การวางแผนจัดการ เรื่องสถานที่ เรื่องกำลังคน การกำหนดพื้นที่การให้บริการ ทุกอย่างควรต้องมีความชัดเจน หากมีการเตรียมความพร้อมอย่างดีแล้ว ก็ย่อมมีชัยมากไปกว่าครึ่ง และเมื่อใดที่ได้เริ่มลงมือทำนั้น ความมั่นใจย่อมเต็มเปี่ยมเกินร้อย การประสบความสำเร็จทางธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างแน่นอน

เรื่องแนะนำ

รู้ความต้องการลูกค้า หัวใจสำคัญทำให้ ธุรกิจสำเร็จ !

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมีปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งยังไม่มีสูตรลับตายตัว แต่หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ธุรกิจสำเร็จ ได้คือ ต้องรู้ความต้องการของลูกค้า

ถ้า ยอดขายตก อย่าเพิ่งลดราคา

ช่วงนี้ไม่ว่าจะคุยกับผู้ประกอบท่านใด ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดขายตก โดยส่วนใหญ่สิ่งที่เจ้าของร้านคิดจะทำเป็นอย่างแรก เมื่อประสบปัญหานี้คือ การลดราคา

ร้านอาหาร บริการลูกค้า

ร้านอาหาร บริการลูกค้า ต่างกลุ่มยังไง ให้โดนใจทุกคน

ร้านอาหาร เลือกลูกค้าไม่ได้แต่ ร้านอาหาร บริการลูกค้า เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ประทับใจได้ จึงขอวิเคราะห์ว่า ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความต้องแบบใด จะได้บริการได้เหมาะสม

กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย

กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย โดยไม่เพิ่มราคา

เมื่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็ไม่ค่อยดี จะเพิ่มราคาก็ไม่ได้ ลดคุณภาพผลิตภัณฑ์ก็ไม่ดี วันนี้เราจึงมี กลยุทธ์การเพิ่มยอดขาย ที่ช่วยให้ยอดขายของคุณพุ่งกระฉูดมาฝาก

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.