7 วิธีสุดเจ๋ง ช่วย ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้ชัวร์! - Amarin Academy

7 วิธีสุดเจ๋ง ช่วย ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้ชัวร์!

7 วิธีสุดเจ๋ง ช่วย ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้ชัวร์!

ต้นทุนวัตถุดิบ หรือ food cost ถือเป็นค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในร้านอาหาร หากเจ้าของร้านสามารถ ลดต้นทุนวัตถุดิบ ได้มาก กำไรก็จะมากตามไปด้วย กลับกันหากเจ้าของร้านไม่รู้จักการบริหารจัดการวัตถุดิบให้ดี ต้นทุนก็อาจพุ่งกระฉูดจนสิ้นเดือนต้องมานั่งกุมขมับกับตัวเลขท้ายบัญชี หากไม่อยากเป็นอย่างกรณีหลัง มาเรียนรู้การจัดการต้นทุนวัตถุดิบกันดีกว่า

1.หลีกเลี่ยงความคิดที่ว่า “เหลือ ดีกว่าขาด”

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าซื้อของมาเผื่อไว้ก่อน เพราะหากของหมดขึ้นมาจะเกิดปัญหาตามมามากมาย แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองกรณีไม่ได้ดีกว่ากันเลย แน่นอนว่าหากวัตถุดิบหมด ร้านคุณย่อมเสียโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ขณะเดียวกันหากวัตถุดิบมีมากเกินจำเป็น ยิ่งเป็นของสดที่เก็บรักษาได้ไม่นาน เท่ากับคุณกำลังโยนเงินจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองลงถังขยะไปฟรีๆ

หรือบางคนอาจไปเจอวัตถุดิบที่ถูกมาก แต่ต้องซื้อในปริมาณมากเช่นเดียวกัน ก็ลองปรึกษากับเชฟสักหน่อยว่า จะสามารถสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ที่ทำจากวัตถุดิบลดราคาได้หรือไม่ หากเขาทำได้ ก็ซื้อได้เลย แต่ต้องมั่นใจว่าจะสามารถขายได้หมดภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อคุณภาพและความสดใหม่สู่มือผู้บริโภค

2.ตรวจสอบวัตถุดิบที่มาส่งที่ร้านทุกครั้ง

การตรวจสอบวัตถุดิบทุกครั้งนอกจากจะทำให้คุณรู้ว่า เราได้ของครบตามจำนวนและตรงตามที่สั่งแล้ว ยังเป็นโอกาสในการตรวจสอบว่าวัตถุดิบเหล่านั้นสดใหม่จริง ๆ หรือเปล่า ร้านอาหารบางร้านอาจบอกว่า Supplier ที่มาส่งไว้ใจได้ เพราะสั่งกันมานาน เขาไม่น่าจะเอาของไม่ดีมาส่ง แต่บางครั้งวัตถุดิบอาจเน่าเสียระหว่างการขนส่งก็เป็นได้ โดยเฉพาะวัตถุดิบจำพวกผัก ผลไม้ ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นตรวจสอบคุณภาพทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินไปฟรีๆ

3.ทำฉลากแสดงวันเดือนปีที่รับวัตถุดิบเข้ามา

การทำฉลากกำกับวัตถุดิบทุกชิ้นว่ารับเข้าเมื่อใด หมดอายุเมื่อไหร่ จะช่วยให้การใช้วัตถุดิบทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะพนักงานจะทราบว่าของชิ้นใดมาส่งก่อน ก็จะได้ใช้ก่อน ส่วนชิ้นที่มาส่งที่หลัง ก็หยิบใช้ทีหลัง เพื่อความสดใหม่ของวัตถุดิบ และป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสีย โดยอาจใช้เป็นแถบสีแสดงลำดับก่อนหลัง เพื่อความสะดวกและไม่ต้องมานั่งดูตัวเลขวันเวลาทุกครั้งที่หยิบใช้

4.เก็บวัตถุดิบตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

วัตถุดิบแต่ละชิ้นมีวิธีการเก็บรักษาต่างกัน ผักสลัดควรแช่ตู้เย็น แต่ผักบุ้งควรแช่น้ำ ไวน์และเบียร์ก็ไม่ควรเก็บในอุณหภูมิห้อง แต่ควรเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม (ตามแต่ชนิดของไวน์) เพื่อจะได้มีอายุนานขึ้น การใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ จะช่วยลดอัตราของเสียลงได้ไปได้มากเลยทีเดียว

5.สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ จากวัตถุดิบเดิม

หากคุณมีวัตถุดิบชนิดใดชนิดหนึ่งจำนวนมากจนใกล้หมดอายุ (แต่ต้องมั่นใจว่ายังคุณภาพยังดีอยู่) เช่น ปลาทูน่า แทนที่คุณจะเสิร์ฟแค่สลัดทูน่าเพียงอย่างเดียว หรือลดราคาเมนูสลัดทูน่าเพื่อจะได้ให้เมนูนี้ออกเร็ว ๆ ขายได้ง่าย ๆ ก็ลองคิดเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น ยำทูน่า สเต็กทูน่า หรือขนมปังหน้าทูน่าน้ำพริกเผา เป็นต้น การสร้างเมนูใหม่ ๆ นี้ นอกจากจะช่วยให้ใช้วัตถุดิบได้ไวขึ้นแล้ว ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่จำเจว่ามาทีไรก็มีแต่เมนูเดิม ๆ อีกด้วย

6.วัตถุดิบชนิดใดไม่มั่นใจว่าเสียหรือยัง “อย่าเสียดาย”

วัตถุดิบบางชนิดที่มีวันหมดอายุแน่นอน คุณก็คงมั่นใจว่าเสียหรือไม่เสียได้ แต่สำหรับวัตุดิบบางชนิดที่ไม่มีวันหมดอายุ เช่น ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่ซื้อมาจากตลาด หากคุณไม่มั่นใจในคุณภาพจริง ๆ อย่าเสียดายกับเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น เพราะหากคุณเสิร์ฟของเสียให้ลูกค้าไป คุณอาจไม่ได้เสียแค่เงินไม่กี่บาท แต่จะเสียลูกค้าคนนั้นไปเลยก็ได้ ฉะนั้นแทนที่จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ใช้วัตถุดิบไป เปลี่ยนเป็นการเช็คของให้ชัวร์ ๆ จะดีกว่า

7.ของเสีย ก็เปลี่ยนเป็นของดีได้

เมื่อมีวัตถุดิบจำพวกพืชผักที่เสีย เหี่ยว ไม่ได้ขนาด หรือช้ำ ร้านอาหารบ้างร้านอาจนำไปทิ้งถังขยะโดยทันที แต่จริงๆ แล้ว มีวิธีที่ดีกว่านั้น ลองนำผักผลไม้พวกนั้นมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพดู สูตรการหมักหาได้ง่ายๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต นอกจากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว น้ำหมักเหล่านี้ยังช่วยขจัดคราบไขมันตามท่อน้ำทิ้งได้อีกด้วย ซึ่งแทนที่คุณจะต้องเสียเงินหลักพันหลักหมื่นในการจ้างช่างมาขุดลอกท่อที่เต็มไปด้วยคราบไขมัน คุณเพียงแค่เทน้ำหมักชีวภาพนี้ลงท่อบ่อย ๆ ก็ไม่ต้องเสียเวลาตามช่างแล้ว

7 วิธีที่กล่าวมานี้ ขอการันตีว่าจะช่วย ลดต้นทุน วัตถุดิบภายในร้านได้จริงๆ ลองนำไปทำตามดูนะครับ ส่วนใครมีวิธีที่ดีกว่านี้ อย่าลืมแบ่งปันความรู้กันบ้างนะครับ

เรื่องแนะนำ

ขายอาหารในศูนย์การค้า

10 ขั้นตอน ขายอาหารในศูนย์การค้า ต้องเริ่มอย่างไร?

เชื่อว่ามีร้านอาหารมากมาย ที่เคยคิดอยากจะเปิดร้านอาหารภายในศูนย์การค้า รวมถึงร้านที่ไม่ใช่แบรนด์ดัง ก็อยากจะพาร้านตัวเองเข้าสู่ศูนย์การค้า เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็มีหลายคำถามมากๆว่า ขายอาหารในศูนย์การค้า ต้องเริ่มอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ยุ่งยากหรือไม่ คุณประภา จิตวิวัฒน์พร Leasing Manager Business Development Group ศูนย์การค้า Seacon Square มาให้คำตอบแบบ Step by Step ให้เจ้าของร้านให้ทราบกันเลย   10 ขั้นตอน ขายอาหารในศูนย์การค้า Step by Step ขั้นตอนแรก เจ้าของร้านต้องโทรเข้ามาที่ศูนย์การค้าเพื่อ ติดต่อฝ่ายขาย ว่ามีความประสงค์ต้องการจะเปิดร้านอาหาร ทีมฝ่ายขายจะมีการสอบถามเบื้องต้นว่า ต้องการเปิดร้านอะไร พื้นที่เท่าไหร่ จากนั้นก็จะให้ทางร้านส่ง Brand Profile มาให้พิจารณาเป็นลำดับถัดไป เจ้าของร้านส่ง Brand Profile ให้ศูนย์การค้าพิจารณา จุดนี้สำคัญมาก เจ้าของร้านต้องทำโปรไฟล์ร้านของตัวเองก่อน เพื่อให้รู้ว่าร้านของคุณเป็นอย่างไร ขายอาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทใด หรือแม้กระทั่งมีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ ยิ่งหากไม่ใช่ร้านดัง Brand […]

ปั้น พนักงานร้านอาหาร

ปั้น พนักงานร้านอาหาร ให้บริการลูกค้าเหมือนเจ้าของร้าน

ทำยังไงให้พนักงานบริการดี ? เรารวบรวมเทคนิคดีๆ จากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านอาหาร ที่ใช้ในการ  ปั้น พนักงานร้านอาหาร ให้บริการดี เหมือนที่เราบริการลูกค้าเองมาฝาก

ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก

แนวคิดสำคัญช่วยให้ ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก เติบโต

บางคนใฝ่ฝันอยากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง มองเห็นภาพหน้าร้านสวยๆ ที่มีลูกค้านั่งอยู่เนืองแน่น แต่ความเป็นจริงแล้วภาพความสำเร็จที่เห็นอาจต้องแลกมากับชั่วโมงการทำงานอย่างหนัก ความมีระเบียบวินัย การให้ความใส่ใจอย่างเต็มที่

โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร

โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร จะเปิดร้านต้องรู้!

สถิติจาก Wongnai รายงานว่า ในบรรดาร้านอาหารที่เปิดหลังปี 2660 มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอด  ซึ่งปัญหาที่ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นเพราะไม่ได้มีการวางแผนธุรกิจมาก่อน หรือศึกษากลุ่มลูกค้าในตลาดไม่ดีพอ และปัญหาสำคัญที่พบมากที่สุดจนทำให้ร้านต้องปิดกิจการลงนั้น คือการบริหารต้นทุนที่ผิดพลาด คุมต้นทุนไม่อยู่ บางร้านแม้จะขายดีแต่ก็ไม่มีกำไร ดังนั้น เจ้าของร้านควรจะต้องรู้จัก โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร ถ้าไม่อยากเจ๊ง   โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร จะเปิดร้านต้องรู้! สิ่งจำเป็นที่คนจะเปิดร้านอาหารต้องรู้ ก็คือเรื่องของ โครงสร้างต้นทุนร้านอาหาร สิ่งนี้จะเป็นตัวแนะแนวทางว่า ในการจะเปิดร้านอาหาร คุณควรลงทุนกับอะไรบ้าง มีต้นทุนในส่วนไหนที่ต้องรู้ และจะต้องวางแผนอย่างไรก่อนที่จะเปิดร้านอาหาร  เบื้องต้นเราสามารถกำหนดโครงสร้างต้นทุนร้านอาหารได้เป็น 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้ ต้นทุนวัตถุดิบ (Food Cost) ค่าวัตถุดิบอาหาร รวมไปถึงค่าบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของร้านอาหาร เจ้าของร้านควรจะใส่ใจและควบคุมต้นทุนส่วนนี้ให้ดี โดยต้นทุนวัตถุดิบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของร้าน ถ้าเป็นร้านทั่วไปจะอยู่ที่ 25-30% แต่ร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ อาจมีต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นเป็น 45-50% ซึ่งทางร้านอาจจะต้องชดเชยด้วยการลดต้นทุนด้านอื่น เช่น ต้นทุนแรงงาน โดยให้ลูกค้าบริการตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้กำไรในอัตราที่เหมาะสม หรือใช้วิธีการควบคุมต้นทุนในส่วนอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละร้าน   […]

Follow Me

Contact

เว็บไซต์ : amarinacademy.com
บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
Tel : 02-422-9999 ต่อ 4662 หรือ 4669, 092-254-0742
Email : amarin.academy@gmail.com

ติดต่อแจ้งปัญหาหรือร้องเรียน
02-422-9999 ต่อ 4180
(จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น)
bdcx@amarin.co.th

สนใจลงโฆษณากับเว็บไซต์ Amarin Academy
Tel. 081-664-0666, 091-729-8060
E-mail : sineenart_ya@amarin.co.th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.